คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6236/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระบุว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยตามงวดชำระภายในกำหนด ผู้กู้ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน ของยอดเงินกู้ที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระหมดสิ้น เป็นเรื่องที่จำเลยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สูงกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และมาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ส่วนข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหาใช่เป็นข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ไม่ตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2546 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 15,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเสร็จสิ้นภายในวันที่ 13 เมษายน 2547 จำเลยยอมรับผิดทั้งค่าติดตามทวงถามก่อนดำเนินคดีและเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวันจากต้นเงินที่ผิดนัด จำเลยผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามกำหนด โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องรับผิดชำระต้นเงินจำนวน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 220 วัน คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 2,884 บาท ค่าติดตามถวงถามเป็นเงิน 1,000 บาท และค่าเบี้ยปรับจำนวน 10,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 28,884 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 28,884 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 15,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้กู้เงินจากโจทก์จริง แต่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องในส่วนค่าทวงถามจำนวน 1,000 บาท และเบี้ยปรับจำนวน 10,000 บาท เพราะโจทก์ไม่เคยทวงถามมาก่อน และในส่วนเบี้ยปรับวันละ 100 บาท ก็มิได้กำหนดไว้ในสัญญากู้ หากจะเรียกเป็นดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวันก็เป็นการเรียกร้องดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน 15,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 ธันวาคม 2547) เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 800 บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาของจำเลยแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา พอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2546 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 15,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยภายในวันที่ 13 เมษายน 2547 หากจำเลยผิดสัญญายอมให้โจทก์คิดค่าติดตามทวงถามก่อนดำเนินคดีและดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน ของยอดเงินกู้ที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระหมดสิ้น ตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเอกสารหมาย จ.2 และจำเลยผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามกำหนด
มีปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเบี้ยปรับจำนวน 5,000 บาท เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ในสัญญากู้เงินมิได้ระบุเกี่ยวกับเบี้ยปรับไว้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเบี้ยปรับจำนวน 5,000 บาท เป็นการนอกเหนือข้อสัญญาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4 ระบุว่า “ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยตามงวดชำระภายในกำหนด….วัน นับแต่วันครบกำหนดงวดชำระ ผู้กู้ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน ของยอดเงินกู้ที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระหมดสิ้น” ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน สูงขึ้นกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับที่กำหนดไว้นั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และมาตรา 383 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์จึงหาได้เป็นการนอกเหนือจากข้อสัญญาไม่ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน หรือร้อยละ 15 ต่อเดือน หรือร้อยละ 180 ต่อปี เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 2 ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ส่วนข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน ตามสัญญาข้อ 4 เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหาใช่เป็นข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยไม่ ข้อสัญญาดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสัญญาที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ไม่ตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share