แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 3 ที่ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการบังคับคดี การรวบรวม หรือการจำหน่ายทรัพย์สินตามคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาดไว้ชั่งคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติ มาตรา 8 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 63/2548 แล้วว่า บทบัญญัติมาตรา 8 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 แล้ว การที่จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาโดยอ้างเหตุผลในข้อกฎหมายขึ้นมาใหม่ว่า ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดต่อ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ขอให้มีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการบังคับคดี การรวบรวม หรือการจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยทั้งสิบไว้จนกว่าคดีหลักจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 28
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากพนักงานอัยการโจทก์ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ฟ้องจำเลยทั้งสิบเป็นบุคคลล้มละลายโดยคดีอาญาที่จำเลยทั้งสิบถูกฟ้องกล่าวหาว่ากระทำผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาและคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ยื่นอุทธรณ์ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 8 และมาตรา 10 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลอุทธรณ์เห็นว่ายังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงมีคำสั่งให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยก่อนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264 ประกอบมาตรา 6 กับให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ทราบคำสั่งของศาลอุทธรณ์จึงดำเนินการจัดการ รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้โดยขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปแล้วบางรายการในราคาต่ำก่อให้เกิดความเสียหายมาก หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการดังกล่าวต่อไปแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทกฎหมายตามคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะมีผลต่อการจัดการทรัพย์สินของจำเลยในคดีนี้ ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการบังคับคดี การรวบรวมหรือการจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 63/2548 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2548 ว่าพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 8 และมาตรา 10 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 29 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง มาตรา 33 และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ครั้นวันที่ 21 สิงหาคม 2549 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้งดการบังคับคดี การรวบรวม หรือการจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลย จำเลยที่ 3 ได้ยื่นฎีกาโดยอ้างเหตุผลในข้อกฎหมายขึ้นมาใหม่ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสิบให้ล้มละลายโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ไม่ใช่การฟ้องคดีล้มละลายทั่วไปที่ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 จำเลยทั้งสิบต่อสู้คดีว่าไม่ได้กระทำความผิดต่อพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งสิบกระทำความผิด ขอให้มีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการบังคับคดี การรวบรวม หรือการจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยทั้งสิบไว้จนกว่าคดีหลักจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนี้ ข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกาจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 3