คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำร้องของจำเลยที่ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้ส่งประกาศขายทอดตลาดไปยังภูมิลำเนาของจำเลยทำให้จำเลยไม่ทราบวันขายทอดตลาดนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยโดยมิได้แจ้งกำหนดวันขายทอดตลาดให้จำเลยทราบ ซึ่งฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 306 วรรคหนึ่ง คำร้องของจำเลยดังกล่าวจึงอยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่นำมาตรา 27 มาใช้บังคับแก่กรณีตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยยื่นคำร้องหลังจากการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวเสร็จลงจึงล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จำเลยจะร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระหากไม่ชำระบังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 5515, 11909, 11908, 8895 และ 4826 หากไม่พอให้บังคับคดีจากทรัพย์สินอื่นจนครบ จำเลยไม่ชำระ โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินจำนองดังกล่าวออกขายทอดตลาดชำระหนี้ และโจทก์เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 4,110,000 บาท โดยได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวไปเป็นของโจทก์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2547 แล้ว
จำเลยยื่นคำร้องว่า ขณะทำการยึดทรัพย์โจทก์ได้ส่งหลักฐานภูมิลำเนาที่แท้จริงของจำเลยต่อเจ้าพนักงานบังคับคิดว่า จำเลยย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 755/1 ซอยกรุงธนบุรี 4 แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับส่งหมายแจ้งกำหนดขายทอดตลาดไปยังภูมลำเนาเดิมซึ่งจำเลยได้ขายและย้ายออกไปแล้ว ต่อมาจำเลยทราบว่าที่ดินของจำเลยถูกขายทอดตลาดครั้นวันที่ 5 สิงหาคม 2547 จำเลยไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สำนักงานบังคับคดี จังหวัดสมุทรสาคร จึงทราบว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อได้ ทำให้จำเลยเสียหาย เนื่องจากที่ดินดังกล่าวมีราคาไม่ต่ำกว่าไร่ละ 800,000 บาท ถึง 1,600,000 บาท ส่วนราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่ำกว่าราคาจริงหลายเท่าตัว เมื่อโจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีเสร็จสิ้นลงแล้ว และจำเลยเพิ่งทราบการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อยังให้การบังคับคดีเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี และเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครจดทะเบียนระงับการจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศขายทอดตลาดแก่จำเลยที่บ้านเลขที่ 311 ตรอกสุทธาราม ซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 19 แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยจำเลยได้รับประกาศขายทอดตลาดทุกครั้งแม้จำเลยจะแจ้งย้ายชื่อของจำเลยไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 755/1 แต่จำเลยยังอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 311 โจทก์ซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาดครั้งที่ 11 ในราคาที่เหมาะสมตามสภาพและที่ตั้งของที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับมีอำนาจขายได้ จำเลยยื่นคำร้องเมื่อล่วงระยะเวลาตามกฎหมาย ทั้งคำร้องมิได้แสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีเลินเล่ออย่างไร และคบคิดฉ้อฉลกันอย่างไร ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คำร้องของจำเลยที่ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้ส่งประกาศขายทอดตลาดไปยังภูมิลำเนาของจำเลยทำให้จำเลยไม่ทราบวันขายทอดตลาดนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยโดยมิได้แจ้งกำหนดวันขายทอดตลาดให้จำเลยทราบ ซึ่งฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 306 วรรคหนึ่ง คำร้องของจำเลยดังกล่าวจึงอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่นำมาตรา 27 มาใช้บังคับแก่กรณีตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยยื่นคำร้องหลังจากการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวเสร็จลง จึงล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จำเลยจะร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม ดังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาจริง กรณีจึงต้องบังคับตามบัญญัติมาตรา 309 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้บังคับอยู่ในเวลาที่จำเลยยื่นคำร้อง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยฟังว่าราคาขายทอดตลาดไม่ต่ำเกินควร ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 309 ทวิ วรรคท้าย (เดิม) จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกา ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาของจำเลยข้ออื่นนอกจากนี้ เป็นข้อปลีกย่อยไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา จึงไม่เป็นสาระแก่คดีที่จะต้องวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share