คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 การที่โจทก์ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาภายในกำหนด 10 ปี และได้นำเงินมาชำระหนี้บางส่วนนั้น โจทก์ก็ต้องร้องขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เหลือภายในระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่อาจใช้สิทธิบังคับคดี เมื่อโจทก์มิได้ร้องขอภายในกำหนดดังกล่าว โจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาในส่วนที่เหลือ ทั้งการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การกระทำอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลายเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด สิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงขาดอายุความแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย
จำเลยทั้งสี่ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสี่เป็นหนี้โจทก์ตามที่ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากธนาคารศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 5213/2537 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ (ที่ถูก ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ดำเนินการบังคับคดีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2538 ตามรายงานการยึดทรัพย์ เจ้าหนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์นำเงินมาใช้หนี้ตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2545 ถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ตามคำฟ้องไม่ขาดอายุความ เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า จำเลยทั้งสี่กับพวกตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนเริ่มชำระหนี้แก่โจทก์ตั้งแต่วันสิ้นเดือนมิถุนายน 2537 เป็นต้นไป หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดหรือผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าผิดนัดผิดสัญญาทั้งหมด นายเติมพงศ์พยานโจทก์เบิกความว่า หลังจากศาลมีคำพิพากษา จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา แต่นายเติมพงศ์ไม่ได้เบิกความว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตั้งแต่เดือนใด จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสี่ผิดนัดตั้งแต่งวดแรกคือวันที่ 30 มิถุนายน 2537 ระยะเวลาที่ธนาคารอาจขอใช้สิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งกรุงเทพใต้จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 พร้อมกับอายุความสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามคำพิพากษาที่เริ่มนับแต่วันดังกล่าว การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาคดีดังกล่าวที่จำเลยทั้งสี่ยังค้างชำระมาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 จึงพ้นกำหนด 10 ปีแล้ว แม้โจทก์ได้บังคับคดีแก่ที่ดินของนายจรและจำเลยที่ 2 โดยนำออกขายทอดตลาดได้เงินชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2545 ก็ตามแต่โจทก์ก็ต้องร้องขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่เพิ่มเติมเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เหลือภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่อาจใช้สิทธิบังคับคดีคือวันที่ 1 กรฎาคม 2537 เมื่อมิได้ร้องขอภายในกำหนดดังกล่าวโจทก์ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาในส่วนที่เหลือต่อไป ทั้งการที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่ถึงที่สุดแล้วมาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลายก็เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 แต่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลายเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงขาดอายุความแล้ว การที่โจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาภายในกำหนด 10 ปี และได้เงินมาชำระหนี้บางส่วนนั้น ไม่ใช่การกระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) ดังที่โจทก์อุทธรณ์ เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาขาดอายุความแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share