คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำร้องของจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียหายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง การยื่นคำร้องของจำเลยที่ 1 จึงต้องกระทำก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 179 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2546 โดยให้งดการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2067 และ 2068 ไว้เนื่องจากไม่มีผู้เสนอราคา จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำที่ดินโฉนดเลขที่ 2067 และ 2068 ออกขายทอดตลาดในครั้งต่อไปตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งประกาศให้ทราบทั่วกันล่วงหน้าก่อนแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2546 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ช้ากว่าสิบห้าวัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นแล้ว คำร้องของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 10,786,073 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,711,658.52 บาท 3,000,000 บาท 650,000 บาท และ 1,231,592.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิด 1,400,225.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,231,592.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 178 และ 179 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 1353, 2067 และ 2068 ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามจนครบ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลฎีกาพิพากษายืนเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2067 และ 2068 ได้ในราคา 4,140,000 บาท และ 10,490,000 บาท ตามลำดับ
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ประเมินราคาตามความเป็นจริง ราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินมีราคาต่ำเกินสมควร ซึ่งเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อทรัพย์ เหลือหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์เป็นเงิน 12,000,000 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เกินไปกว่าหนี้ที่จะต้องรับผิด 19,180,000 บาท ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยคัดค้านราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดไม่ได้มีจำนวนต่ำเกินสมควรโจทก์กับผู้ซื้อทรัพย์ไม่ได้คบคิดกันฉ้อฉล การที่โจทก์ไม่สู้ราคาก็เพราะเห็นว่าได้ราคาที่เหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่ายังคงค้างชำระหนี้โจทก์อยู่เพียง 12,000,000 บาท นั้น ไม่เป็นความจริง ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่อีกประมาณ 31,000,000 บาท ขอให้ยกคำร้อง
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำแถลงว่า ผู้ซื้อทรัพย์กับโจทก์ไม่ได้คบคิดกันฉ้อฉล ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 178 และ 179 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 1353, 2067 และ 2068 ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา วันที่ 15 มกราคม 2546 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 1353 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 178 รวมเป็นเงิน 12,010,000 บาท วันที่ 13 กันยายน 2546 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 179 ในราคา 4,550,000 บาท ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 2067 แก่โจทก์ในราคา 4,140,000 บาท และขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 2068 ในราคา 10,490,000 บาท ที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เกินไปกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดนั้น จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างมาในคำร้องว่า หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้แก่โจทก์ตลอดมา คงเหลือหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเพียง 12,000,000 บาท ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 1353 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 178 รวมเป็นเงิน 12,010,000 บาท พอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดียังคงนำทรัพย์สินที่เหลือออกขายทอดตลาด โดยในวันที่ 13 กันยายน 2546 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 179 ในราคา 4,550,000 บาท ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 4,140,000 บาท และขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 2068 ในราคา 10,490,000 บาท เกินไปกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิด 19,180,000 บาท เห็นว่า คำร้องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง การยื่นคำร้องของจำเลยที่ 1 จึงต้องกระทำก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม นายเกรียงศักดิ์ผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดในคดีนี้คราวเดียวกัน คือในวันที่ 21 ธันวาคม 2545 วันที่ 15 มกราคม 2546 และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546 ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ในการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทย์ 2,000,000 บาท โจทก์จึงให้งดการขายทอดตลาดไว้ หลังจากนั้นมีการเจรจาตกลงกัน โดยโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ส่วนที่เหลือ 12,000,000 บาท ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด โจทก์จะดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ต่อไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามข้อตกลง เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินที่เหลือต่อไปในวันที่ 13 กันยายน 2546 วันที่ 18 ตุลาคม 2546 และวันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ฉะนั้น หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546 พอจำนวนที่จะชำระหนี้แล้ว ในการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 จำเลยที่ 1 ก็คงไม่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์อีกเป็นเงินถึง 2,000,000 บาท อย่างไรก็ดีหากจำเลยที่ 1 เห็นว่า ไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับทราบ เพื่อไม่ให้นำทรัพย์สินที่เหลือ คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 179 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 2067 และ 2068 ออกขายทอดตลาดเพราะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 284 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยที่ 1 หาได้กระทำไม่ เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 179 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2546 โดยให้งดการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2067 และ 2068 ไว้เนื่องจากไม่มีผู้เสนอราคา จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำที่ดินโฉนดเลขที่ 2067 และ 2068 ออกขายทอดตลาดในครั้งต่อไปตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งประกาศให้ทราบทั่วกันล่วงหน้าก่อนแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2546 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 ช้ากว่าสิบห้าวัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นแล้ว คำร้องของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากยืน

Share