คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8691/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความเท็จที่จะถือว่าเป็นข้อสำคัญในคดีต้องเป็นความเท็จที่อาจทำให้คู่ความต้องแพ้ชนะกันในประเด็นแห่งคดี คดีแพ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ร่วมหรือไม่ การที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน และลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยนั้น ย่อมเป็นการเบิกความเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทอันเป็นข้อแพ้ชนะคดีกรณีจึงเป็นข้อสำคัญในคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคำเบิกความนั้นเป็นเท็จ ดังนี้การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวสุทธิดาผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 179 วรรคแรก (ที่ถูกมาตรา 177 วรรคแรก) จำคุก 4 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน 20 วัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้เปลี่ยนเป็นลงโทษกักขังแทนจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ดังนี้ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องฟ้องข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งขอให้บังคับจำเลยรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยให้การต่อสู้คดีระหว่างการพิจารณาคดีแพ่งดังกล่าว จำเลยเบิกความต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน และลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย ต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาในคดีแพ่งให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ร่วมในฐานะผู้ค้ำประกัน และในคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นความเท็จ เพราะความจริงแล้วจำเลยลงลายมือชื่อไว้ คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ข้อความเท็จที่จำเลยเบิกความในคดีแพ่งที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ เห็นว่า ในคดีมีข้อพิพาท ความเท็จที่จะถือว่าเป็นข้อสำคัญในคดีต้องเป็นความเท็จที่อาจทำให้คู่ความต้องแพ้ชนะกันในประเด็นแห่งคดี ซึ่งในคดีแพ่งดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ร่วมหรือไม่ การที่จำเลยเบิกความว่า จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน และลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยนั้นย่อมเป็นการเบิกความเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทอันเป็นข้อแพ้ชนะคดี กรณีจึงเป็นข้อสำคัญในคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคำเบิกความนั้นเป็นเท็จ ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ร่วมแก้ฎีกาขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน โดยไม่ลดโทษให้เพราะทางนำสืบของจำเลยไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณานั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งโจทก์ร่วมจะต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เมื่อโจทก์ร่วมไม่ยื่นฎีกาแต่ทำมาเป็นเพียงคำแก้ฎีกา จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share