แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
กำหนดอายุความตามกฎหมายต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ท. ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์กระทำละเมิดในทางการที่จ้างเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาให้แก่บริษัท ว. และ ธ. ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2540 จึงเป็นกรณีที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 ซึ่งเป็นบทบัญญัติถึงหน้าที่และความรับผิดของนายจ้างที่ต้องร่วมกับลูกจ้างรับผิดต่อความเสียหายที่บุคคลภายนอกได้รับจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างเท่านั้น แต่ในระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง สิทธิของนายจ้างและหน้าที่ของลูกจ้างจะพึงมีต่อกันเพียงใดต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 ที่บัญญัติว่า นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น ดังนั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษา โจทก์จึงทราบจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชำระแก่บริษัท ว. และ ธ. และได้ชำระค่าสินไหมทดแทนไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2540 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ ท. ถึงแก่ความตาย เมื่อ ท. ตาย หนี้อันเกิดจากมูลละเมิดที่ ท. ทำไว้ก่อนตายจึงเป็นมรดกตกแก่จำเลยทั้งสามผู้เป็นทายาทโดยธรรม สิทธิที่โจทก์จะได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนจากจำเลยทั้งสามเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อโจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทน คือวันที่ 31 มีนาคม 2540 และสิทธิเรียกร้องให้ลูกจ้างชดใช้คืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 426 ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แม้ ท. ตายและหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดที่ ท. กระทำไว้ก่อนตายจะเป็นมรดกตกแก่จำเลยทั้งสามผู้เป็นทายาทโดยธรรมก็นำอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ ซึ่งเป็นเรื่องอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดกมาใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามในวันที่ 29 กันยายน 2547 ยังไม่พ้นสิบปีนับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่ ท. ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 1,691,559.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกันว่า นายทวีเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ ระหว่างทำงานนายทวีได้ขับรถยนต์โดยสารไปในทางการที่จ้างของโจทก์ชนรถยนต์ของนายธีระที่เอาประกันภัยไว้แก่บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์ในฐานะนายจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด และนายธีระผู้เสียหาย เป็นเงิน 1,697,272.50 บาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4709 – 4710/2539 โจทก์ได้ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2540 นายทวีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2536 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า กำหนดอายุความตามกฎหมายต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป คดีนี้โจทก์ฟ้องว่านายทวีซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์กระทำละเมิดในทางการที่จ้างเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด และนายธีระผู้เสียหายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2540 ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ซึ่งเป็นบทบัญญัติถึงหน้าที่และความรับผิดของนายจ้างที่ต้องร่วมกับลูกจ้างรับผิดต่อความเสียหายที่บุคคลภายนอกได้รับจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างเท่านั้น แต่ในระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง สิทธิของนายจ้างและหน้าที่ของลูกจ้างจะพึงมีต่อกันเพียงใดต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 ที่บัญญัติว่านายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้นชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น ดังนั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 4709 – 4710/2539 โจทก์จึงทราบจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชำระแก่บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด และนายธีระ และได้ชำระค่าสินไหมทดแทนไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2540 อันเป็นเวลาหลังจากที่นายทวีถึงแก่ความตาย เมื่อนายทวีตายหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดที่นายทวีกระทำไว้ก่อนตายจึงเป็นมรดกตกแก่จำเลยทั้งสามผู้เป็นทายาทโดยธรรม สิทธิที่โจทก์จะได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนจากจำเลยทั้งสามเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อโจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนคือวันที่ 31 มีนาคม 2540 และสิทธิเรียกร้องให้ลูกจ้างชดใช้คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 แม้นายทวีตายและหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดที่นายทวีกระทำไว้ก่อนตายจะเป็นมรดกแก่จำเลยทั้งสามผู้เป็นทายาทโดยธรรมก็นำอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสี่ ซึ่งเป็นเรื่องอายุความสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อเจ้ามรดกมาใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามในวันที่ 29 กันยายน 2547 ยังไม่พ้นสิบปีนับแต่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่นายทวี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
คดีนี้จำเลยให้การต่อสู้คดีประการเดียวว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่า โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด และนายธีระเป็นเงิน 1,697,272.50 บาท ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยทั้งสามไปเสียทีเดียว ปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้วบางส่วนและหักเงินค่าจ้างของนายทวีไว้รวม 5,713.25 บาท คงเหลือค่าเสียหายของโจทก์เพียง 1,691,559.25 บาท จำเลยทั้งสามในฐานะทายาทของนายทวีจึงต้องชดใช้เงินให้โจทก์ 1,691,559.25 บาท แต่ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่จำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 1,691,559.25 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่จำเลยทั้งสาม