แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๒/๒๕๕๑
วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๑
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๐ นางหลงมาหรือกนกนนท์ ลิ่มวิไล ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกองบัญชาการทหารสูงสุด ที่ ๑ กรมยุทธศึกษาทหาร ที่ ๒ พันตรี ทินกร นพคุณ ที่ ๓ จ่าสิบเอก จำนงค์ สินธุเดช ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่๑๕๓๒/๒๕๕๐ ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ เป็นครูสอนในโรงเรียนช่างฝีมือทหารสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการเรียนการสอน กระทำการโดยประมาทเลินเล่อไม่ระมัดระวังดูแลนักเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน โดยละเว้นการจัดมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเตรียมเครื่องมือการเรียนการสอน การป้องกันอันตราย อันจะเกิดจากการฝึก การเรียนการสอนทั้งปวง ไม่จัดให้มีเครื่องมือเตือนภัย สัญญาณหรือเครื่องนิรภัยต่าง ๆ สำหรับการสอนวิชาช่าง แผนกช่างกล วิชางานเชื่อมตัดใต้น้ำ ไม่ระมัดระวังดูแลนักเรียนโดยละเว้นการปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัยตามมาตรฐาน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับบัญชามีหน้าที่ควบคุมดูแลไม่ให้เกิดความบกพร่องในการจัดอุปกรณ์การเรียนการสอน การจัดระบบป้องกันความปลอดภัยในโรงเรียนช่างฝีมือทหาร แต่กลับละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจนเป็นเหตุให้นายณัฐพงศ์ชัย ลิ่มวิไล บุตรผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นนักเรียนที่ฝึกวิชาดังกล่าว จมน้ำเสียชีวิตในโรงฝึกโรงเรียนช่างฝีมือทหารเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๙ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ต่อมาผู้ฟ้องคดีขอถอนฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ศาลมีคำสั่งอนุญาต
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่หรือครูผู้สอนได้มีการสอนทางทฤษฎีในเรื่องความปลอดภัยเพื่อใช้ในการเรียนภาคปฏิบัติตามหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนได้มีการสั่งห้ามนักเรียนลงฝึกใต้น้ำในถังฝึกตามลำพังโดยไม่มีครูผู้สอนคอยกำกับอยู่ด้วย อีกทั้งอุปกรณ์การสอนก็มีเจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบคอยตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์สามารถใช้ในการฝึกสอนได้ตามปกติ มิได้ชำรุดบกพร่องแต่อย่างใดทั้งสิ้น การเสียชีวิตของบุตร ผู้ฟ้องคดีเกิดจากการที่บุตรผู้ฟ้องคดีลงไปฝึกกันเองกับเพื่อนคือนายกวิน ฉัตรตระกูล และ นายกฤษณรักษ์ งามสวย ตามลำพัง โดยต่างไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีครูผู้สอนคอยกำกับดูแล ทั้งที่ต่างก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อข้อปฏิบัติในการฝึกเรียน การเสียชีวิตของบุตรผู้ฟ้องคดีในคดีนี้จึงไม่ใช่เกิดจากการกระทำโดยประมาทอันเป็นการละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตลอดจนครูผู้สอนหรือเจ้าหน้าที่ผู้ใดทั้งสิ้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ตามคำฟ้องคดีนี้เป็นการกล่าวอ้างการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตามระเบียบทั่ว ๆ ไปของครูผู้สอนเท่านั้น มิใช่เป็นการละเมิดทางปกครอง จึงไม่ใช่ข้อพิพาทในทางปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทในทางแพ่งตามปกติอันเกี่ยวด้วยเรื่องละเมิดโดยทั่วไป คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้ตายรายอื่นในเหตุเดียวกับคดีนี้ได้ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ในคดีนี้ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๔๖๓/๒๕๕๐ และคดีหมายเลขดำที่ ๓๖๕๐/๒๕๕๐ ข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหายด้วย
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และมาตรา ๕ (๑๙)แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดให้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็น วางแผน อำนวยการ ประสานงาน กำกับดูแล และดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกการศึกษาและวิทยาการทางทหารของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รวมทั้งดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการของสภาการศึกษาวิชาการทหาร เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องจากการที่บุตรชายของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นนักเรียนวิชางานเชื่อมตัดใต้น้ำของโรงเรียนช่างฝีมือทหาร สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่๑ และที่ ๒ จมน้ำเสียชีวิตในโรงฝึกของโรงเรียนดังกล่าว และผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับบัญชามีหน้าที่ตามกฎหมายในการควบคุมดูแลไม่ให้เกิดความบกพร่องในการจัดอุปกรณ์การเรียนการสอน การจัดระบบป้องกันความปลอดภัยในโรงเรียนช่างฝีมือทหาร แต่กลับละเลยในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ครูโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ละเว้นการจัดมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเรียนการสอน การป้องกันอันตรายจากการฝึก การเรียนการสอนทั้งปวงซึ่งถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่อ กรณีตามคำฟ้อง จึงเป็นการฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นส่วนราชการในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็น วางแผน อำนวยการ ประสานงานกำกับดูแล และดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกศึกษาและวิทยาการทางทหารของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑รวมทั้งดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการของสภาการศึกษาวิชาทหาร ตามมาตรา ๕ (๑๙) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองบัญชาการทหารสูงสุดกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๓๙ อันมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถือได้ว่าเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย กรณีหากเกิดความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ในหน้าที่ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม แต่คดีที่ฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้ต้องรับผิดทางละเมิดอาจอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองก็ได้ กรณีจำต้องพิจารณาอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นสำคัญ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” อันเป็นการจำกัดประเภทคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไปของเจ้าหน้าที่ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องจากการที่บุตรชายของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นนักเรียนวิชางานเชื่อมตัดใต้น้ำของโรงเรียนช่างฝีมือทหาร สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ จมน้ำเสียชีวิตในโรงฝึกของโรงเรียนดังกล่าวและผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับบัญชามีหน้าที่ตามกฎหมายในการควบคุมดูแลไม่ให้เกิดความบกพร่องในการจัดอุปกรณ์การเรียนการสอนการจัดระบบป้องกันความปลอดภัยในโรงเรียนช่างฝีมือทหาร แต่กลับละเลยในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ครูสอนในโรงเรียนช่างฝีมือทหารละเว้นการจัดมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเรียนการสอน การป้องกันอันตรายจากการฝึก การเรียนการสอนทั้งปวง จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการประมาทเลินเล่อดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการกระทำในหน้าที่เกี่ยวกับการ ฝึกศึกษาวิทยาการทางทหารตามปกติอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไป มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ เป็นครูสอนในโรงเรียนช่างฝีมือทหารมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการเรียนการสอน กระทำการ โดยประมาทเลินเล่อไม่ระมัดระวังดูแลนักเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน โดยละเว้นการจัดมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเตรียมเครื่องมือ การเรียนการสอนการป้องกันอันตราย อันจะเกิดจากการฝึก การเรียนการสอนทั้งปวง ไม่จัดให้มีเครื่องมือเตือนภัย สัญญาณหรือเครื่องนิรภัยต่าง ๆ สำหรับการสอนวิชาช่าง แผนกช่างกล วิชางานเชื่อมตัดใต้น้ำ ไม่ระมัดระวังดูแลนักเรียนโดยละเว้นการปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัยตามมาตรฐาน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ มีหน้าที่ควบคุมดูแลไม่ให้เกิดความบกพร่องในการจัดอุปกรณ์การเรียนการสอน การจัดระบบป้องกันความปลอดภัยในโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจนเป็นเหตุให้บุตรผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นนักเรียนที่ฝึกวิชาดังกล่าว จมน้ำเสียชีวิตในโรงฝึกโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ต่อมาผู้ฟ้องคดีขอถอนฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่หรือครูผู้สอนได้มีการสอนทางทฤษฎีในเรื่องความปลอดภัยเพื่อใช้ในการเรียนภาคปฏิบัติตามหลักสูตร การเรียนการสอน ตลอดจนได้มีการสั่งห้ามนักเรียนลงฝึกใต้น้ำในถังฝึกตามลำพังโดยไม่มีครูผู้สอน คอยกำกับอยู่ด้วย อีกทั้งอุปกรณ์การสอนก็มีเจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบคอยตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์สามารถใช้ในการฝึกสอนได้ตามปกติ มิได้ชำรุดบกพร่อง แต่อย่างใดทั้งสิ้น การเสียชีวิตของบุตรผู้ฟ้องคดีเกิดจากการที่บุตรผู้ฟ้องคดีลงไปฝึกกันเองกับเพื่อน ตามลำพัง โดยต่างไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีครูผู้สอนคอยกำกับดูแล ทั้งที่ต่างก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อข้อปฏิบัติในการฝึกเรียน การเสียชีวิตของบุตรผู้ฟ้องคดีในคดีนี้จึงไม่ใช่เกิดจากการกระทำโดยประมาทอันเป็นการละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ตลอดจนครูผู้สอนหรือเจ้าหน้าที่ผู้ใดทั้งสิ้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒จึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดี เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นส่วนราชการในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็น วางแผน อำนวยการ ประสานงานกำกับดูแล และดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกศึกษาและวิทยาการทางทหารของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑รวมทั้งดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการของสภาการศึกษาวิชาทหาร ตามมาตรา ๕ (๑๙) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการกองบัญชาการทหารสูงสุดกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๓๙ อันมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับบัญชาของโรงเรียนช่างฝีมือทหารและต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่๓และที่ ๔ มีหน้าที่ควบคุมดูแลไม่ให้เกิดความบกพร่องในการจัดอุปกรณ์การเรียนการสอนการจัดระบบป้องกันความปลอดภัยในโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ซึ่งเป็นครูผู้สอนในโรงเรียนช่างฝีมือทหารละเว้นการจัดมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเตรียมเครื่องมือการเรียนการสอน การป้องกันอันตรายอันจะเกิดจากการฝึก การเรียนการสอนทั้งปวง ไม่จัดให้มีเครื่องมือเตือนภัย สัญญาณหรือเครื่องนิรภัยต่าง ๆ สำหรับการสอนวิชาช่าง แผนกช่างกล วิชางานเชื่อมตัดใต้น้ำ ไม่ระมัดระวังดูแลนักเรียนโดยละเว้นการปฏิบัติตามกฎแห่งความปลอดภัยตามมาตรฐาน จนทำให้บุตรผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นนักเรียนวิชางานเชื่อมตัดใต้น้ำของโรงเรียนช่างฝีมือทหารจมน้ำเสียชีวิตในโรงฝึกของโรงเรียนลักษณะของพฤติกรรมต่างๆ ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างเป็นการกล่าวถึงขั้นตอนที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวตลอดจนการควบคุมดูแลนักเรียนในระหว่างการเรียนการสอนนั้น เป็นอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของครูผู้สอนเพื่อให้การเรียนการสอนบรรลุผลเท่านั้น หาใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางหลงมาหรือกนกนนท์ ลิ่มวิไล ผู้ฟ้องคดีกองบัญชาการทหารสูงสุด ที่ ๑ กรมยุทธศึกษาทหาร ที่ ๒ พันตรี ทินกร นพคุณ ที่ ๓ จ่าสิบเอก จำนงค์ สินธุเดช ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
๖