แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗/๒๕๕๐
วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดเทิง
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเทิงส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นกับศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๘ นายสมบูรณ์ ไชยชนะ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ นายสมเดช เหล่ากาวี ที่ ๒ และนายก๋วงเมี๋ยว แซ่เฉิน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเทิง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๘๔/๒๕๔๘ ความว่า เดิมนายจันทร์ ไชยชนะ เป็นเจ้าของที่ดินตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๑๑๐ และ เลขที่ ๑๖๗ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่ดินทั้งสองแปลงมีอาณาเขตติดต่อกัน แปลงเลขที่ ๑๑๐ มีเนื้อที่ ประมาณ ๔๓ ไร่ เศษ อยู่ด้านทิศตะวันออก ส่วนแปลงเลขที่ ๑๖๗ มีเนื้อที่ประมาณ ๒๔ ไร่ เศษ อยู่ทางด้านทิศตะวันตก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ นายจันทร์ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเชียงของ ดำเนินการเปลี่ยนเอกสารสิทธิที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) โดยประสงค์ให้เจ้าพนักงานที่ดินออก น.ส. ๓ ก. ตามหลักฐาน น.ส. ๓ เดิมในแต่ละฉบับ ไม่มีเจตนาจะให้รวมที่ดินทั้งสองแปลงเข้าด้วยกันแล้วรังวัดแบ่งแยกใหม่แต่อย่างใด แต่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าพนักงานที่ดิน ปรากฏว่า ในการออก น.ส. ๓ ก. ทั้งสองฉบับนั้น เจ้าพนักงานที่ดินออกสลับแปลงกัน กล่าวคือ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ซึ่งออกแทน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๖๗ ไปอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ส่วน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓ ซึ่งออกแทน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๑๐ ไปอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ดังนั้น น.ส. ๓ ก. ที่เจ้าพนักงานที่ดินออกให้ทั้งสองฉบับ จึงเป็นเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๓๒ นายจันทร์ยกที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๑๐ เนื้อที่จำนวน ๔๓ ไร่ เศษ ให้โจทก์ และยกที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๖๗ เนื้อที่จำนวน ๒๔ ไร่ เศษ ให้นายสุธรรม ไชยชนะ โจทก์และนายสุธรรมครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน โดยโจทก์ครอบครองปลูกต้นสัก และทำประโยชน์ในที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๑๐ ที่นายจันทร์ยกให้โจทก์ตลอดมาโดยเปิดเผยและมีเจตนาเป็นเจ้าของนับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๑๖ ปีแล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๗ เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ซึ่งออกผิดแปลงดังกล่าว จำเลยที่ ๓ ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่จะเข้าประมูลราคาในการขายทอดตลาด ไม่ใช่ที่ดินที่โจทก์ครอบครองและเป็นเจ้าของ เพราะตามประกาศขายทอดตลาดระบุว่า ที่ดินมีสภาพเป็นที่นาเก่า มีบ้านไม้ชั้นเดียว โดยไม่ได้ระบุว่ามีต้นสักแต่อย่างใด และเป็นที่ดินที่ติดกับสี่แยก ที่ดินที่ประกาศขายและจำเลยที่ ๓ มีเจตนาซื้อนั้น เป็นที่ดินของนายสมเพ็ชร ไชยชนะ จำเลยที่ ๓ จึงไม่ได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๓ สมคบกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในสังกัดของจำเลยที่ ๑ โดยมีเจตนาทุจริต จงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ไปรังวัดเพื่อเปลี่ยนเอกสารสิทธิ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ เป็นโฉนดที่ดิน โดยไปชี้แนวเขตที่ดินบางส่วนของโจทก์ซึ่งปลูกต้นสักไว้ จำนวน ๒๑ ไร่ โจทก์จึงคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าว และที่ดินที่จำเลยที่ ๓ ชี้นั้นไม่ตรงกับที่ดินที่ประกาศขายทอดตลาด จำเลยที่ ๓ ไม่มีเจตนาซื้อที่ดินของโจทก์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาอำเภอเชียงของ ยอมรับว่า มีการออกหลักฐาน น.ส. ๓ ก. สลับตำแหน่งที่ดินกันจริง แต่ก็ยังยืนยันที่จะออกโฉนดที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ซึ่งทับซ้อนกับที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๓ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิและตำแหน่งหน้าที่ออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์ โจทก์ขอร้องให้จำเลยทั้งสามหยุดการกระทำดังกล่าวและขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. ทั้งสองแปลง แต่จำเลยทั้งสามยังคงเพิกเฉย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ และเลขที่ ๓ ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีคำสั่งให้ที่ดินตามที่ระบุในระวางแผนที่เอกสารสิทธิประเภท น.ส. ๓ เลขที่ ๑๑๐ ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จำนวน ๔๓ ไร่ ๑ งาน ๗๖ ตารางวา พร้อมด้วยต้นสักเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เพิกถอนการรังวัดที่ดินและการชี้แนวเขตที่ดินของจำเลยทั้งสามที่จะออกโฉนดตามที่ระบุในเอกสารสิทธิ ประเภท น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จำนวน ๒๑ ไร่ และเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่จะให้ออกโฉนดที่ดินตามคำสั่งที่ ๓๒/๒๕๔๘
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การในทำนองเดียวกันว่า เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์นั้นจำเลยที่ ๒ ตรวจสอบแล้วได้ข้อเท็จจริงว่าเดิมที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงเป็นของนายจันทร์ ไชยชนะ ซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) ต่อมานายจันทร์ขอเปลี่ยนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเป็น น.ส. ๓ ก. จำเลยที่ ๒ ตรวจสอบในภายหลังจึงทราบว่ามีการออก น.ส. ๓ ก. สลับตำแหน่งกัน จำเลยที่ ๒ หารือผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายแล้ว และทางจังหวัดเชียงรายเห็นด้วยกับแนวทางของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงราย สาขาอำเภอเชียงของ (จำเลยที่ ๒) โดยเห็นว่า น.ส. ๓ เดิมเป็นของเจ้าของเดียวกัน และขอเปลี่ยนเป็น น.ส. ๓ ก. พร้อมกัน เข้าทำนองรวม น.ส. ๓ ทั้งสองแปลงแล้วออก น.ส. ๓ ก. ใหม่ ๒ แปลง น.ส. ๓ ก. ทั้งสองแปลงจึงออกไปโดยชอบแล้ว จำเลยที่ ๓ ซื้อที่ดินแปลงพิพาทมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล จำเลยที่ ๒ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ออกคำสั่งที่ ๓๒/๒๕๔๘ สั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ จึงเป็นคำสั่งที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ ๒ มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินออกคำสั่งให้ออกโฉนดให้แก่จำเลยที่ ๓ ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน จึงมีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๒๙ การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กรณีที่มีการโอนโฉนดไขว้กันและโจทก์เข้าครอบครองมาตามที่ตั้งใจโอนนั้น เป็นกรณีที่โจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งสิทธิของโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนไว้ ตามมาตรา ๑๒๙๙ วรรคสอง จึงต้องห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก คือ จำเลยที่ ๓ ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว จำเลยที่ ๓ จึงมีสิทธิดีกว่าโจทก์ คำสั่งของจำเลยที่ ๒ จึงชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการละเมิดโจทก์แต่อย่างใด ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ประมูลสู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ตามฟ้อง ขณะที่รับโอนจำเลยที่ ๓ ทราบแต่เพียงว่าที่ดินดังกล่าวมีชื่อนายสุธรรม ไชยชนะ น้องชายโจทก์เป็นเจ้าของและที่ดินตั้งอยู่ตามที่ระบุในประกาศขายทอดตลาด การขอออกโฉนดเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ในการรังวัดโจทก์มาระวังชี้แนวเขตและคัดค้านว่าโจทก์ครอบครองที่ดินทำประโยชน์เนื้อที่ ๔ ไร่ ๑ งาน ๑๕ ตารางวา และลงนามรับรองแนวเขตที่ดินข้างเคียงแล้ว แต่โจทก์กลับมาโต้แย้งว่าตนครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ทั้งแปลง เมื่อทราบว่ามีการออก น.ส. ๓ ก. ทั้งสองแปลงสลับกัน อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การดำเนินการออกโฉนดเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า มูลคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดเทิงพิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง ประกอบกับคำขอท้ายฟ้องข้อ ๑ และ ข้อ ๓ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. ทั้งสองแปลง และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนด รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ที่ ๓๒/๒๕๔๘ นั้น มีมูลเหตุอันเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินที่ให้ออก น.ส. ๓ ก. ทั้งสองแปลงสลับกันและคำสั่งของจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ที่สั่งการให้ออกโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ ๓ นั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ข้อพิพาทดังกล่าว จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่า กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙(๑) อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนคำขอท้ายฟ้องในข้อ ๒ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์นั้น แม้การที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาตามคำขอดังกล่าวได้ จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร แต่ก่อนที่ศาลจะพิจารณาประเด็นดังกล่าวได้ ก็ต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า การออก น.ส. ๓ ก. ของเจ้าพนักงานที่ดินทั้งสองแปลงเป็นการออกโดยชอบหรือไม่ และคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่เห็นควรให้ออกโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ ๓ นั้น เป็นคำสั่งโดยชอบหรือไม่ อย่างไร ประเด็นข้อพิพาทที่ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการกระทำโดยไม่ชอบ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เป็นประเด็นหลักในคดี จึงเห็นว่า คดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินของจำเลยที่ ๓ ซึ่งชี้เขตรุกล้ำที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๒ สอบสวนเปรียบเทียบแล้ว แต่โจทก์กับจำเลยที่ ๓ ตกลงกันไม่ได้ จำเลยที่ ๒ จึงมีคำสั่งที่ ๓๒/๒๕๔๘ ให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ ตามที่ขอ ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปฟ้องศาลยุติธรรมภายในกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดเทิง ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๑๐ เนื้อที่ ๔๓-๑-๗๖ ไร่ พร้อมต้นสักเป็นของโจทก์ และขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ และเลขที่ ๓ ตลอดจนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่ให้ออกโฉนดแก่จำเลยที่ ๓ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะขอให้ศาลรับรองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง แม้จะมีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งสั่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐ และขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่การจะพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ และระหว่างโจทก์กับนายสุธรรม ไชยชนะ ใครเป็นผู้มีสิทธิครอบครองดีกว่าในที่ดินแปลงพิพาท ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ตามแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๔๑/๒๕๔๘
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า เดิมนายจันทร์ ไชยชนะเป็นเจ้าของที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๑๐ และเลขที่ ๑๖๗ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่ดินทั้งสองแปลงมีอาณาเขตติดต่อกัน ต่อมานายจันทร์ได้ยื่นคำร้องขอให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) โดยไม่มีเจตนาจะให้รวมที่ดินทั้งสองแปลงเข้าด้วยกันแล้วรังวัดแบ่งแยกใหม่ แต่เจ้าพนักงานที่ดินออก น.ส. ๓ ก. ให้สลับแปลงกัน เป็นการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายจันทร์ยกที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๑๐ เนื้อที่ ๔๓ ไร่ เศษ ให้โจทก์ และยกที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๖๗ เนื้อที่ ๒๔ ไร่ เศษ ให้นายสุธรรม ไชยชนะ แต่เนื่องจากมีการออก น.ส. ๓ ก. สลับกัน ที่ดินที่โจทก์ได้รับซึ่งควรเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็นน.ส. ๓ ก. เลขที่ ๓ จึงกลายเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็น น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ของ น.ส. ๓ เลขที่ ๑๑๐ ตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๑๖ ปี ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดได้ และดำเนินการให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดเพื่อเปลี่ยนเอกสารสิทธิ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ เป็นโฉนดที่ดิน โดยชี้เขตรุกล้ำที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงคัดค้านการรังวัด ต่อมาจำเลยที่ ๒ สอบสวนเปรียบเทียบแล้ว อาศัยอำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินมีคำสั่งที่ ๓๒/๒๕๔๘ ให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ และให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปฟ้องศาลยุติธรรมภายในกำหนด ๖๐ วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องคดีต่อศาล ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่ให้ออกโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ ๓ เพิกถอนการนำชี้เขตและการรังวัดที่ดินของจำเลยทั้งสาม เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ และเลขที่ ๓ และขอให้พิพากษาว่าที่ดินตาม น.ส. ๓ เลขที่ ๑๑๐ ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พร้อมต้นสักเป็นของโจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ และเลขที่ ๓ ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งที่ ๓๒/๒๕๔๘ ที่สั่งให้ออกโฉนดให้แก่จำเลยที่ ๓ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจำเลยที่ ๓ ซื้อที่ดินแปลงพิพาทมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาล และเป็นผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน และโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่าซื้อที่ดินแปลงพิพาทมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาล จึงเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ และในการรังวัดขอออกโฉนด โจทก์มาระวังชี้แนวเขตและคัดค้านว่าโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ เนื้อที่ ๔ ไร่ ๑ งาน ๑๕ ตารางวา และลงนามรับรองแนวเขตที่ดินข้างเคียงแล้ว แต่โจทก์กลับมาโต้แย้งว่าครอบครองที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒ ทั้งแปลง เมื่อทราบว่ามีการออก น.ส. ๓ ก. สลับแปลงกัน โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การออกโฉนดเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองที่ให้ออกโฉนดให้แก่จำเลยที่ ๓ ซึ่งโจทก์เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องคดีต่อศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์เป็นสำคัญ ทั้งการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การต่อสู้คดีว่า การออก น.ส. ๓ ก. ทั้งสองแปลงชอบด้วยกฎหมายและคำสั่งให้ออกโฉนดให้แก่จำเลยที่ ๓ ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และในส่วนของจำเลยที่ ๓ ก็ให้การต่อสู้คดีว่าเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาท เนื่องจากซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของศาลนั้น ก็เป็นกรณีที่คู่ความยังโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือไม่ ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและเพิกถอนคำสั่งให้ออกโฉนดแก่จำเลยที่ ๓ เพิกถอน น.ส. ๓ ก. ทั้งสองแปลง และเพิกถอนการนำชี้เขตและการรังวัดที่ดินของจำเลยทั้งสามตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสมบูรณ์ ไชยชนะ โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ นายสมเดช เหล่ากาวี ที่ ๒ และนายก๋วงเมี๋ยว แซ่เฉิน ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) นายปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๗