แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑/๒๕๔๘
วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
ศาลจังหวัดพะเยา
ระหว่าง
ศาลปกครองเชียงใหม่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพะเยาส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๓ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โจทก์ ยื่นฟ้องนายแพทย์สมนึก ชีวาเกียรติยิ่งยง ที่ ๑ นายนพดล หงษ์หิน ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดพะเยาเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๘๐๗/๒๕๔๓ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ อันเนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งขณะเกิดเหตุรับราชการในตำแหน่งนายแพทย์ ๗ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และจำเลยที่ ๒ ซึ่งขณะเกิดเหตุรับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการระดับ ๕ ประจำโรงพยาบาลแม่ใจ ได้ร่วมกันจัดจ้างลูกจ้างชั่วคราวให้เข้าช่วยเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในโรงพยาบาลแม่ใจ จำนวน ๒๕ ราย โดยจ่ายเงินค่าจ้างจากเงินบำรุงอันเป็นเงินนอกงบประมาณของโจทก์ โดยจงใจฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย คำสั่ง และข้อบังคับของโจทก์ และจำเลยทั้งสองยังได้ร่วมกันนำเงินบำรุงอันเป็นเงินนอกงบประมาณของโจทก์ไปจ่ายเป็นค่าปฏิบัติงานล่วงเวลา และเงินสมทบประกันสังคมให้กับลูกจ้าง รวมทั้งได้ร่วมกันทำหลักฐานอันเป็นเท็จในการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างว่าเป็นการจ้างเหมาบริการ จ้างเหมาดูแลต้นไม้และทำความสะอาด การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน ๗๘๓,๗๖๐ บาท ซึ่งก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดและจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ให้โจทก์และส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณา แต่กระทรวงการคลังยังไม่แจ้งคำวินิจฉัยกลับมาภายใน ๖ เดือน ก่อนหมดอายุความ ๒ ปี ซึ่งโจทก์ได้เคยทวงถามให้จำเลยทั้งสองชดใช้แล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงฟ้องต่อศาลจังหวัดพะเยาเป็นคดีนี้
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่โดยการอำนวยการ แนะนำ สั่งการ ควบคุม กำกับ และบริหารงานทุกด้านของโรงพยาบาลแม่ใจ สามารถทำหน้าที่ได้ครบถ้วนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผน ข้อบังคับ และนโยบายของทางราชการ ไม่ได้เจตนาหรือจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่ได้จัดจ้างลูกจ้างชั่วคราวจากเงินบำรุงโดยผิดระเบียบ และไม่ได้ซ้ำซ้อนกับงานเดิมและไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหาย
ต่อมา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลจังหวัดพะเยาว่า การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๐ ดังนั้น สิทธิการฟ้องคดีของโจทก์จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองไม่ใช่ศาลยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑ และมาตรา ๒๗๖ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) จึงเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองเชียงใหม่
ศาลจังหวัดพะเยาเห็นว่า จำเลยทั้งสองรับราชการเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและคำสั่ง เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและนอกเหนืออำนาจหน้าที่จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการละเลยหน้าที่ตามคำสั่งและตามที่กฎหมายกำหนดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองเชียงใหม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดว่าได้กระทำการโดยการจัดจ้างลูกจ้างชั่วคราวโดยผิดระเบียบ กฎหมาย คำสั่งและข้อบังคับของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และการที่โจทก์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้มีคำสั่งตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ พย ๐๐๓๓.๐๐๑/๑/๒๗๗๔ ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ แจ้งให้จำเลยทั้งสองชำระค่าสินไหมทดแทนนั้น ก็เป็นการที่โจทก์ได้มีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินอันเกิดจากการกระทำละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) (๓) แต่โดยที่โจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดพะเยาในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นวันหลังจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ศาลปกครองเปิดทำการเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ ดังนั้น ในขณะยื่นฟ้องคดีจึงยังไม่มีศาลปกครองที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนี้
เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑ บัญญัติว่า “ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น” ศาลยุติธรรมจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดโดยเฉพาะ และคดีซึ่งศาลที่มีเขตอำนาจศาลยังไม่ได้เปิดทำการ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีซึ่งกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองต่อศาลจังหวัดพะเยา แต่เมื่อศาลปกครองยังไม่ได้เปิดทำการจึงยังไม่มีศาลปกครองที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนี้ ศาลจังหวัดพะเยาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมซึ่งมีเขตอำนาจทั่วไป ในขณะนั้นย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
คดีนี้ ขณะยื่นฟ้องโจทก์เป็นส่วนราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๒๘ จำเลยทั้งสองเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ โจทก์จึงเป็นหน่วยงานของรัฐและจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้อเท็จจริงตามฟ้องปรากฏว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่อันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย คำสั่ง และข้อบังคับของโจทก์ในการจัดจ้างลูกจ้างชั่วคราวจากเงินบำรุงอันเป็นเงินนอกงบประมาณให้เข้าช่วยเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในโรงพยาบาลแม่ใจ และยังร่วมกันนำเงินบำรุงของโจทก์ไปจ่ายเป็นค่าปฏิบัติงานล่วงเวลา และเงินสมทบประกันสังคมให้กับลูกจ้าง รวมทั้งร่วมกันทำหลักฐานอันเป็นเท็จในการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างว่าเป็นการจ้างเหมาบริการจ้างเหมาดูแลต้นไม้และทำความสะอาด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผน ข้อบังคับ และนโยบายของทางราชการ ไม่ได้เจตนาหรือจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่ได้จัดจ้างลูกจ้างชั่วคราวจากเงินบำรุงโดยผิดระเบียบ และไม่ได้ทำให้โจทก์เสียหาย คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ในบังคับบัญชาเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติมีลักษณะเป็นคดีปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) อย่างไรก็ตาม โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๓ หลังจากที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ใช้บังคับ แต่ศาลปกครองเปิดทำการวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ ขณะนั้นยังไม่มีศาลปกครองที่มีเขตอำนาจเหนือคดีปกครอง ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจในการรับคดีดังกล่าวไว้พิจารณาพิพากษาได้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โจทก์ นายแพทย์สมนึก ชีวาเกียรติยิ่งยง ที่ ๑ นายนพดล หงษ์หิน ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ
ศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๒