คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5284/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็ก และทางพิจารณาได้ความว่าทั้งสองฝ่ายต่างได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว กล่าวคือจำเลยที่ 1 ได้ทำการก่อสร้างฝ่ายน้ำล้นจนแล้วเสร็จตามสัญญาและส่งมอบงานแก่โจทก์ไปแล้ว และโจทก์ได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างทั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 ไปเสร็จสิ้นแล้วเช่นกัน หนี้ที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามสัญญาได้สิ้นสุดลง จึงไม่มีกรณีที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาอีกหรือไม่ จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างฝายน้ำล้นกับโจทก์โดยมีข้อสัญญาให้จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระและแรงงานในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และโจทก์ตกลงให้ค่าก่อสร้างแก่จำเลยที่ 1 สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 587 ตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างฝายน้ำล้นที่พิพาทได้กำหนดกรณีที่การงานที่ทำชำรุดบกพร่องไว้ว่า ถ้ามีการชำระเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้างภายใน 365 วัน นับแต่วันที่รับมอบงานเป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างจะต้องรีบแก้ไขซ่อมแซมให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด และเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวหากยังมีการชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นอีก ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดต่อผู้ว่าจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกด้วย เมื่อปรากฏว่าการก่อสร้างฝายน้ำล้นของจำเลยที่ 1เป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดินตามแบบแปลนที่โจทก์กำหนดโดยฝ่ายจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาสัมภาระเองและฝายน้ำล้นที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างได้เกิดชำรุดแตกร้าวทรุดตัวอันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติเป็นที่ประจักษ์แก่โจทก์ภายในเวลาไม่ถึงปีนับแต่วันส่งมอบ ดังนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 595 และ 600 ไม่ว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าการชำรุดบกพร่องมีอยู่ จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดในการบกพร่องนั้น เว้นแต่การชำระบกพร่องนั้นจะเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ผู้ว่าจ้าง ดังนั้นปัญหาที่จำเลยที่ 1ฎีกาโต้เถียงว่า ก่อนก่อสร้างจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของดินบริเวณที่ก่อสร้างได้บดอัดดินจนแน่นก่อนเทคอนกรีตได้ผสมปูนตามสัดส่วนที่กำหนดไว้และได้นำแท่งคอนกรีตไปตรวจสอบหาความแข็งแรงให้รับน้ำหนักได้ตามที่กำหนดรวมทั้งการผูกเหล็กและวางตะแกรงเหล็กได้กระทำตามที่โจทก์กำหนดไว้หรือไม่ จึงไม่ต้องวินิจฉัย ที่จำเลยที่ 1 ให้การว่า ความเสียหายของฝ่ายเกิดขึ้นเพราะการออกแบบไม่ถูกต้องมิได้เผื่อไว้ในกรณีน้ำมากกว่าปกติ ที่ฝายกั้นน้ำเสียหายนั้นเป็นเพราะมีปริมาณน้ำเหนือฝายเกินกว่าปกติแม้จะดำเนินการก่อสร้างฝายถูกต้องตามแบบทุกประการฝายก็ยังต้องพังทลาย เพราะมีน้ำป่าผ่านเหนือฝายสูงกว่าปกติทำให้เกิดปริมาณน้ำมากเกินกว่าความแข็งแรงของฝายที่จะรับน้ำได้ จึงเกิดความเสียหายขึ้นนั้นเมื่อปรากฏว่าการก่อสร้างฝายน้ำล้นจำเลยที่ 1ต้องทราบดีว่ามีวัตถุประสงค์จะจัดการเกี่ยวกับน้ำที่ไหลมาจำนวนมากผิดปกติ ซึ่งก่อนทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 1ก็น่าจะตรวจสอบสภาพธรรมชาติของน้ำให้ได้ข้อมูลที่แน่นอนเสียก่อนลงมือก่อสร้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างเหตุอุทกภัยดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดว่าเป็นเหตุสุดวิสัยได้ จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นข้าราชการของโจทก์เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างบกพร่อง เลือกสถานที่ก่อสร้างผิดพลาดไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นมุมหัก ไม่เอื้ออำนวยประโยชน์ เมื่อมีน้ำไหลแรงจึงเกิดการปะทะเป็นเหตุหนึ่งทำให้ฝายชำรุดและผู้ออกแบบไม่ได้หาข้อมูลจากส่วนราชการที่มีความชำนาญเกี่ยวข้องกับการออกแบบเขื่อนกั้นน้ำและฝายขนาดใหญ่เช่น กรมชลประทาน ดังนี้ นับได้ว่าเหตุที่ฝ่ายน้ำล้นของโจทก์ไม่แข็งแรงเกิดชำรุดบกพร่องในภายหลังโจทก์ได้มีส่วนผิดอยู่ด้วย โจทก์ได้ออกคำสั่ง 2 ฉบับ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุและข้อเท็จจริงและบุคคลต้องรับผิดชอบกรณีฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กชำรุดเสียหาย คณะกรรมการได้สรุปรายงานผลการสอบสวนเสนอโจทก์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2527สำหรับความรับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าจำเลยที่ 2(ถึงแก่กรรม) จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ ส่วนจำเลยที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานไม่อยู่ควบคุมงานก่อสร้างทุกคนต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งต่อทางราชการ ส่วนจำเลยที่ 5 ไม่ปรากฏว่าได้ละเลยหน้าที่ไม่ควรต้องรับผิดทางแพ่ง ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้แทนของโจทก์ในขณะนั้นได้ทราบรายงานดังกล่าวแล้วตั้งแต่เมื่อใด จึงถือได้ว่ารายงานการสอบสวนสาเหตุและข้อเท็จจริงและบุคคลต้องรับผิดเป็นรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นเท่านั้น ไม่อาจรับฟังได้รับโจทก์ได้รับตัวผู้ทำละเมิดแล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจการจ้างส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นกรรมการควบคุมงานก่อสร้างและการก่อสร้างฝายน้ำล้นที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งได้กระทำไปโดยไม่ถูกต้องตามแบบและวิธีการก่อสร้างเป็นเหตุให้ฝายน้ำล้นชำรุดบกพร่องแตกร้าวและพังทลายเสียหายจนใช้การไม่ได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งปีนับแต่วันส่งมอบการที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำรายงานเสนอโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยถูกต้องตามแบบรูปและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาควรรับไว้ใช้ในราชการซึ่งหากจำเลยที่ 5 กับที่ 6 ไม่ประมาณเลินเล่อเอาใจใส่สอดส่องควบคุมการก่อสร้างให้ถูกต้องตามหลักวิชาโดยใกล้ชิดฝายน้ำล้นก็ไม่น่าจะแตกร้าวพังชำรุดเสียหายในเวลาอันรวดเร็วหลังจากการส่งมอบงานเช่นนั้น และโจทก์หลงเชื่อตามรายงานของจำเลยทั้งสี่ว่าการก่อสร้างได้เป็นไปตามแบบโดยถูกต้อง จึงได้จ่ายเงินค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ไปเต็มจำนวนตามสัญญาจ้าง ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และ ที่ 6ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยร่วมกันประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาจ้างทำของ ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ละเมิดแม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จำนวนเดียวกัน แต่ก็เป็นความรับผิดที่ต่างต้องรับผิดในความเสียหายอันเดียวกันเท่านั้น จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินหรือชดใช้เงินค่าก่อสร้างหรือค่าเสียหายจำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง 1,200,000 บาท รวม 5,200,000 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 4,000,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 3,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน 1,200,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2524 โจทก์ได้ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 56.50 เมตร ยาว 25 เมตร สูง 5 เมตร กำหนดเวลาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2524 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2525 เป็นเงิน 4,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระและแรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จโจทก์ได้แต่งตั้งข้าราชการในสังกัดโจทก์ คือ จำเลยที่ 2 ที่ 3 กับที่ 4 เป็นกรรมการตรวจการจ้าง และจำเลยที่ 5 กับที่ 6 เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างจำเลยที่ 1 ได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาและส่งมอบงานงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2525 คณะกรรมการตรวจการจ้างของโจทก์ตรวจรับงานเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2525 โจทก์ได้จ่ายเงินค่าจ้างงาน 4,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วต่อมาวันที่ 13 มิถุนายน 2525 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าฝายน้ำล้นที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างมีรอยแตกร้าวชำระหลายแห่ง คาดว่าไม่สามารถใช้การได้ จึงรายงานให้โจทก์ทราบ
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กตามรูปแบบและรายละเอียดประกอบแนบท้ายสัญญาจ้างทุกประการจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางพิจารณาได้ความว่าทั้งสองฝ่ายต่างได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้วกล่าวคือจำเลยที่ 1 ได้ทำการก่อสร้างฝายน้ำล้นจนแล้วเสร็จตามสัญญาและส่งมอบงานแก่โจทก์ไปแล้ว และโจทก์ได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างทั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 ไปเสร็จสิ้นแล้วเช่นกัน หนี้ที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตามสัญญาได้สิ้นสุดลงจึงไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดสัญญาอีกหรือไม่ แต่โดยที่คดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างฝายน้ำล้นกับโจทก์โดยมีข้อสัญญาให้จำเลยที่ 1ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระและแรงงานในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จและโจทก์ตกลงให้ค่าก่อสร้างแก่จำเลยที่ 1 สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1กับโจทก์จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 587 โดยเฉพาะกรณีงานที่ทำคือฝายน้ำล้นที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างและส่งมอบแก่โจทก์แล้วเกิดชำรุดบกพร่องภายหลังจากได้ส่งมอบสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ผู้ว่าจ้างและจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างได้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 595 ว่า “ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระไซ้รความรับผิดของผู้รับจ้างในการบกพร่องนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ลักษณะซื้อขาย” และมาตรา 600 บัญญัติว่า “ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซ้รท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องเพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่ง นับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายในห้าปีถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น” ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.9 กำหนดกรณีที่การงานที่ทำชำรุดบกพร่องไว้ในข้อ 6 ใจความว่าถ้ามีการชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้างภายใน 365 วัน นับแต่วันที่รับมอบงานเป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างจะต้องรีบแก้ไขซ่อมแซมให้เรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด และเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว หากยังมีการชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นอีก ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดต่อผู้ว่าจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อีกด้วย การก่อสร้างฝายน้ำล้นของจำเลยที่ 1 เป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดินตามแบบแปลนที่โจทก์กำหนด โดยฝ่ายจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาสัมภาระเอง ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า ฝายน้ำล้นที่จำเลยที่ 1ก่อสร้างได้เกิดชำรุดแตกร้างทรุดตัว อันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติเป็นที่ประจักษ์แก่โจทก์ภายในเวลาไม่ถึงปีนับแต่วันส่งมอบ ซึ่งตามความหมายของบทบัญญัติในสองมาตราดังกล่าวไม่ว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าการชำรุดบกพร่องมีอยู่จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดในการบกพร่องนั้น เว้นแต่การชำรุดบกพร่องนั้นจะเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ตามนับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2392/2523 ระหว่างบริษัทโรงพิมพ์ผ้าศิลป์ชัย จำกัด โจทก์ นายปรีชา จำปีทอง จำเลย
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่า ฝายน้ำล้นชำรุดเสียหายเกิดจากน้ำในแม่น้ำโขงเอ่อล้นขึ้นมาบริเวณท้ายฝายมากผิดปกติ ทำให้น้ำปะทะกันเกิดน้ำวนม้วนตัวกัดเซาะดินท้ายฝาย ผนังฝายจึงฟังลงมาเป็นอุทกภัยตามธรรมชาติเป็นเหตุสุดวิสัย และรูปแบบของฝายน้ำล้นตามสัญญาไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศฝายน้ำล้นจึงไม่แข็งแรงเพียงพอเหตุที่เกิดทรุดพังจึงเป็นความผิดของโจทก์เองปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1ให้การว่า ความเสียหายของฝายเกิดขึ้นเพราะการออกแบบไม่ถูกต้องมิได้เผื่อไว้ในกรณีน้ำมากกว่าปกติ ที่ฝายกั้นน้ำเสียหายนั้น เป็นเพราะมีปริมาณน้ำเหนือฝายเกินกว่าปกติ แม้จะดำเนินการก่อสร้างฝายเกินกว่าปกติ แม้จะดำเนินการก่อสร้างฝายถูกต้องแบบทุกประการฝายก็ยังต้องพังทลาย เพราะมีน้ำป่าผ่านเหนือฝายสูงกว่าปกติทำให้เกิดปริมาณน้ำมากเกินกว่าความแข็งแรงของฝายที่จะรับน้ำได้จึงเกิดความเสียหายขึ้น เห็นว่า ข้ออ้างประการแรกว่าฝายพังเพราะเกิดอุทกภัยธรรมชาติเป็นเหตุสุดวิสัยนั้น ไม่อาจรับฟังได้เพราะการก่อสร้างฝายน้ำล้นจำเลยที่ 1 ต้องทราบดีว่ามีวัตถุประสงค์จะจัดการเกี่ยวกับน้ำที่ไหลมาจำนวนมากผิดปกติซึ่งก่อนทำสัญญารับเหมาะก่อสร้างจำเลยที่ 1 ก็น่าจะตรวจสอบสภาพธรรมชาติของน้ำให้ได้ข้อมูลที่แน่นอนเสียก่อนลงมือก่อสร้าง จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างเหตุอุทกภัยดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดได้ ส่วนข้อปฏิเสธความรับผิดในประเด็นของเรื่องการออกแบบไม่ดี โจทก์เลือกทำเลก่อสร้างไม่เหมาะสมนั้นปรากฏในข้อสังเกตของคณะกรรมการสอบสวนสาเหตุและข้อเท็จจริงที่ทำให้ฝายน้ำล้นพังว่า จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นข้าราชการของโจทก์เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างบกพร่อง เลือกสถานที่ก่อสร้างผิดพลาดไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นมุมหัก ไม่เอื้ออำนวยประโยชน์เมื่อมีน้ำไหลแรง จึงเกิดการปะทะเป็นเหตุหนึ่งทำให้ฝายชำรุด และผู้ออกแบบไม่ได้หาข้อมูลจากส่วนราชการที่มีความชำนาญเกี่ยวข้องกับการออกแบบเขื่อนกั้นน้ำและฝ่ายขนาดใหญ่ เช่นกรมชลประทาน ซึ่งนับว่าเหตุที่ฝายน้ำล้นของโจทก์ไม่แข็งแรงเกินชำรุดบกพร่องในภายหลังโจทก์มีส่วนผิดอยู่ด้วย จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดในการชำรุดบกพร่องดังกล่าวเต็มตามราคาที่ศาลล่างทั้งสองกำหนด ทางพิจารณาได้ความว่า ราคาค่าก่อสร้างฝายน้ำล้นตามสัญญาเป็นเงิน 4,000,000 บาท โจทก์ได้เงินประกันการก่อสร้างจากจำเลยที่ 1 ไว้แล้ว 200,000 บาท การที่ฝายน้ำล้นชำรุดบกพร่องพังเสียหายจนใช้ประโยชน์ไม่ได้โดยสิ้นเชิง ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 3,800,000 บาท แต่การชำรุดบกพร่องดังกล่าวโจทก์มีส่วนผิดอยู่ด้วย จึงเห็นควรหักให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์เป็นเงิน 2,800,000 บาท และการเลือกสถานที่ก่อสร้างไม่เหมาะสม ในปัญหาเรื่องอายุความ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมการตรวจ
ในปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ พยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่า เจ้าหน้าที่ของโจทก์ในท้องที่ได้รายงานให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2525 ว่าฝายน้ำล้นที่จำเลยที่ 1ก่อสร้างชำรุด (ร้าวหลายแห่ง) คาดว่าไม่สามารถใช้การได้ ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการสอบสวนสาเหตุและข้อเท็จจริงและบุคคลต้องรับผิดตามเอกสารหมาย จ.26 ว่า ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2526 โจทก์ได้ออกคำสั่ง 2 ฉบับ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน สาเหตุและข้อเท็จจริงและบุคคลต้องรับผิดชอบกรณีฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กชำรุดเสียหายคณะกรรมการได้สรุปรายงานผลการสอบสวนเสนอโจทก์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2527 ระบุว่าสำหรับความรับผิดทางแพ่งคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าจำเลยที่ 2 (ถึงแก่กรรม) จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการส่วนจำเลยที่ 6 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานไม่อยู่ควบคุมงานก่อสร้างทุกคนต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งต่อทางราชการ ส่วนจำเลยที่ 5ไม่ปรากฏว่าได้ละเลยหน้าที่ ไม่ควรต้องรับผิดทางแพ่ง ที่จำเลยที่ 3ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกาว่า พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้แทนของโจทก์ในขณะนั้นได้ทราบรายงานดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2527 ด้วย ไม่ปรากฏในรายงานว่าพลเอกอาทิตย์ได้ทราบรายงานดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด และคำเบิกความของพลเอกอาทิตย์ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังที่จำเลยฎีกา เอกสารหมายจ.26 จึงถือได้ว่าเป็นรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นเท่านั้นไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รู้ตัวผู้ทำละเมิดตั้งแต่วันที่ 21มีนาคม 2527 ดังที่จำเลยฎีกา
ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ได้ร่วมทำละเมิดต่อโจทก์โดยประมาทเลินเล่อไม่ตรวจและควบคุมงานก่อสร้างฝายน้ำล้นเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจการจ้าง ส่วนจำเลยที่ 5 และที่ 6เป็นกรรมการควบคุมงานก่อสร้าง สำหรับการก่อสร้างฝายน้ำล้นที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งได้กระทำไปโดยไม่ถูกต้องตามแบบและวิธีการก่อสร้าง เป็นเหตุให้ฝายน้ำล้นชำรุดพกพร่องแตกร้าวและพังทลายเสียหายจนใช้การไม่ได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งปีนับแต่วันส่งมอบ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำรายงานเสนอโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.22(5 ฉบับ) ว่า จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยถูกต้องตามแบบรูปและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาควรรับไว้ใช้ในราชการ และหากจำเลยที่ 5กับที่ 6 ไม่ประมาทเลินเล่อเอาใจใส่สอดส่องควบคุมการก่อสร้างให้ถูกต้องตามหลักวิชาโดยใกล้ชิดฝายน้ำล้นก็ไม่น่าจะแตกร้าวชำรุดเสียหายในเวลาอันรวดเร็วหลังจากการส่งมอบงานเช่นนั้น โจทก์ได้หลงเชื่อตามรายงานของจำเลยทั้งสี่ว่าการก่อสร้างได้เป็นไปตามแบบโดยถูกต้อง จึงได้จ่ายเงินค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ไปเต็มจำนวนตามสัญญาจ้าง เมื่อฝายพังจนใช้งานไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยร่วมกันประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่โดยเหตุที่จำเลยที่ 1ต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาจ้างทำของ ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 4ที่ 5 และที่ 6 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ละเมิดแม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จำนวนเดียวกัน แต่ก็เป็นความรับผิดที่ต่างต้องรับผิดในความเสียหายอันเดียวกันเท่านั้นจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ให้เงิน 2,800,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2525จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือบังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6ร่วมกันชำระแทนจนครบ

Share