คำวินิจฉัยที่ 7/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗/๒๕๔๘

วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดลำพูน

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็น มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
บริษัท ชลกานต์วอเตอร์ จำกัด ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดลำพูน ที่ ๑ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๘/๒๕๔๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงงานผลิตและจัดส่งเพื่อจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดให้แก่ผู้บริโภคในเขตจังหวัดภาคเหนือ และเป็นผู้ใช้กระแสไฟฟ้ารายหนึ่งในจังหวัดลำพูน โดยผู้ฟ้องคดีได้ติดตั้งเครื่องควบคุมการใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุดซึ่งมีการติดตั้งใช้งานอย่างแพร่หลาย เพื่อลดค่าไฟฟ้าอันเป็นต้นทุนการผลิต ร่วมกับการออกระเบียบเคร่งครัดการประหยัดไฟฟ้าภายในโรงงานจึงทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ต่อมาเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มาตรวจสอบจุดติดตั้งมิเตอร์วัดกระแสไฟฟ้าซึ่งอยู่ริมรั้วห่างจากอาคารโรงงานประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เมตร โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีส่งพนักงานผู้เชี่ยวชาญร่วมรับทราบและเฝ้าดูการปฏิบัติงาน แต่กลับเข้าทำการตรวจสอบโดยลำพังแล้วอ้างว่าพบสายคอนโทรลถูกตัดขาด และสามารถบอกได้ในทันทีว่ามีผลทำให้มิเตอร์หมุนช้าไปร้อยละห้าสิบ โดยปราศจากเครื่องมือวัดค่าใดๆ แล้วให้พนักงานในโรงงานของผู้ฟ้องคดีลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหาทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความผิด และเรียกเบี้ยปรับละเมิดการใช้ไฟฟ้าจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งว่าจะทำการปรับปรุง ค่ากระแสไฟฟ้าของผู้ฟ้องคดีที่ลดลงในเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ๒๕๔๓ เป็นจำนวนสูงถึง ๒๖๓,๐๗๕.๑๔ บาท โดยคิดคำนวณตามอำเภอใจ ผู้ฟ้องคดีจึงร้องขอความเป็นธรรมไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้กำหนดจำนวนเงินปรับปรุงค่ากระแสไฟฟ้าใหม่เป็นเงิน ๑๒๗,๔๒๒.๒๐ บาท พร้อมเรียกให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินจำนวนดังกล่าวภายใน ๗ วัน มิฉะนั้นจะงดจ่ายกระแสไฟฟ้า ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายจึงยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต่อศาลปกครองเชียงใหม่เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๗/๒๕๔๔ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกเบี้ยปรับละเมิดการใช้ไฟฟ้าและค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับปรุง และขอให้ศาลกำหนดวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราว โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ผู้ฟ้องคดีตามปกติ ต่อมาศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวและคดีอยู่ระหว่างผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีหนังสือด่วนมากที่ มท ๕๓๖๑/ ลพ. ๐๙๓๐ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ให้ผู้ฟ้องคดีชำระหนี้ค่าไฟฟ้าปรับปรุงกรณีละเมิดจำนวน ๑๒๗,๔๒๒.๒๐ บาท ภายในเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะงดจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือชี้แจงไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อให้ชะลอการงดจ่ายกระแสไฟฟ้าไว้ก่อนเพราะคดีหมายเลขดำที่ ๒๗/๒๕๔๔ อยู่ระหว่างผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ด้วย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้งดจ่ายกระแสไฟฟ้าและให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาลำพูน ชำระหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าในฐานะผู้ค้ำประกันของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแต่บังเกิดผลเสียหายแก่ประชาชนผู้ต้องจำยอมเข้าทำสัญญาด้วยโดยไม่มีทางเลือก เป็นการใช้อำนาจโดยไม่มีขอบเขต และมีเจตนามุ่งหมายให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ฟ้องคดีดังเดิมโดยเร็ว ให้ชดใช้เงินในบรรดาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ทำละเมิดจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้คืนเงินค้ำประกันความเสียหายแก่ผู้ค้ำประกัน และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามหนังสือด่วนมากที่ มท ๕๓๖๑/ลพ. ๐๙๓๐ ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖
ระหว่างพิจารณา ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นการปฏิบัติตามสัญญา และเป็นเรื่องสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรง เป็นสัญญาที่ผู้ถูกฟ้องคดีทำกับผู้ใช้บริการเฉพาะราย มิใช่สัญญาที่ทำกับผู้ใช้บริการทั่วไป ไม่เป็นสัญญามหาชนหรือสัญญาทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง เพราะสัญญาที่พิพาทเป็นสัญญาทางปกครองที่เกี่ยวด้วยการสาธารณูปโภค การใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จที่ได้มาโดยผลของกฎหมายและเงินทุนที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้ในการประกอบกิจการก็เป็นเงินทุนของรัฐบาลที่ได้มาจากการเก็บภาษีจากประชาชน
ศาลปกครองเชียงใหม่เห็นว่า คดีนี้เป็นการพิพาทกันเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งเป็นสัญญาทางแพ่ง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดลำพูนเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกระทำการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า อันมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นให้เกิดกับผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นประชาชนเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีภาระหน้าที่จัดบริการให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ใช้กระแสไฟฟ้า ดังนั้น สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นสัญญาที่จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
คดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ ประกอบพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่พระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๖ มาตรา ๑๓ และมาตราอื่นๆ ได้กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไว้หลายประการ บางประการต้องใช้อำนาจทางปกครองในการดำเนินการ เช่น อำนาจในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๓๕ บางประการก็มิได้ใช้อำนาจทางปกครองแต่เป็นการดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ เช่น การดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง หรือที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามมาตรา ๖ (๒) ซึ่งให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินธุรกิจได้เช่นเดียวกับเอกชนทั่วไป นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีกับเอกชนในการดำเนินธุรกิจดังกล่าวจึงเป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่ง การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองว่า กระทำละเมิดในการตรวจสอบและแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีชำระหนี้ค่าไฟฟ้าปรับปรุงกรณีละเมิดตลอดจนงดจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว และให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาลำพูน ชำระหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าในฐานะผู้ค้ำประกันของผู้ฟ้องคดี และมีคำขอบังคับให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้ฟ้องคดีดังเดิมโดยเร็วให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายและคืนเงินค้ำประกันความเสียหายแก่ผู้ค้ำประกัน กับให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระหนี้ค่าไฟฟ้าปรับปรุงกรณีละเมิดนั้น
การดำเนินการทั้งหลายของผู้ถูกฟ้องคดีอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่กระทำกับผู้ฟ้องคดีในฐานะเสมอภาคเช่นเดียวกับเอกชนต่อเอกชน มิได้ใช้อำนาจทางปกครอง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง มิใช่สัญญาทางปกครองตามความหมายของมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีนี้จึงเป็นคดีพิพาทอันเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัท ชลกานต์วอเตอร์ จำกัด ผู้ฟ้องคดี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดลำพูน ที่ ๑ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท พลโท
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share