คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1934/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่หาว่าจำเลยทำผิด พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 อัยยการโจทก์ไม่มีอำนาจขอให้จ่ายสินบล คงมีอำนาจขอแต่ให้จ่ายเงินรางวัลผู้จับ (อ้างฎีกา 1043/2492 และ 1933/2492)
ในกรณีที่มีผู้นำจับ แต่โจทก์ขอให้จ่ายเพียงร้อยละ 15 จึงต้องจ่ายรางวัล ตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 แต่ให้จ่ายเพียงเท่าที่โจทก์ขอเท่านั้น ไม่มีปัญหาว่าจะต้องจ่ายตามวรรคแรกหรือวรรคสอง
คดีที่จำเลยทำผิด พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควรฯ และผิดกฎหมายอื่นด้วยนั้น ให้แยกปรับฐานผิด พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควรฯ เสียกะทงหนึ่งต่างหาก แล้วจึงให้จ่ายรางวับของค่าปรับในฐานนี้จากจำนวนค่าปรับที่ศาลวางโทษก่อนลดโทษ

ย่อยาว

โจทก์หาว่า จำเลยขายมันสุกรเกินราคา ผิด พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 และกล่าวคำหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับ “เป็นตำรวจทำไม มาใช้อำนาจกดขี่ราษฎร ถือว่ามีอำนาจแล้วจะขู่เข็ญไม่ยอม” จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่พิพากษารวมกะทงปรับจำเลย 1000 บาท ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาตรา 8,10,17,18 และ ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา 116 ลดรับกึ่งหนึ่งเหลือ 500 บาท ส่วนค่าสินบลและรางวัลให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องเงินสินบลศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนเรื่องเงินรางวัลก็ได้มีคำพิพากษาเป็นแบบอย่างไว้แล้ว แต่ปรากฎว่ามีผู้นำจับจึงต้องจ่ายรางวัลตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด มาตรา 8 แต่จะจ่ายตามวรรคแรกหรือวรรค 2 ไม่มีปัญหา เพราะโจทก์ขอเพียง 15 เปอร์เซนต์ อันต่ำกว่าอัตราทั้ง 2 วรรค
พิพากษาแก้ ให้ปรับจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 เป็นเงิน 800 บาท ปรับตาม ก.ม.ลักษณะอาญา มาตรา 116 เป็นเงิน 200 ให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละ 15 (เท่าที่โจทก์ขอ) ของค่าปรับตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490

Share