คำวินิจฉัยที่ 63/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๓/๒๕๔๗

วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเพชรบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นายวิทูร นิธากร ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้อง นายกเทศมนตรีตำบลชะอำ ที่ ๑คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จังหวัดเพชรบุรี ที่ ๒ นายกิตติพงษ์ สุนานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๓ นายพินิจ อุส่าห์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๔ นายมนต์ชัย บ่อทรัพย์ อัยการจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๕ นายพัฒพงศ์ พยัคฆันตร ปลัดจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๖ นายประสาน วงศ์สวัสดิ์หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๗ นายนิติ อินทร์นอก เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๘นางวิจิตรา วิจิตร์ปัญญารักษ์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๙ นายเกรียงไกร เตียงเกตุธนารักษ์จังหวัดเพชรบุรี ที่ ๑๐ นายสมศักดิ์ สรรพคุณ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๑๑นางสาวศิระภา วาระเลิศ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเพชรบุรี ที่ ๑๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๙๙/๒๕๔๖ ความว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๓๔ ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ (นายาง) จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ ๓ ไร่ ๑ งาน ๘๒ ตารางวา คุณหญิงบุญเลื่อนเครือตราชู เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในปี ๒๕๑๕ ได้แบ่งแยกที่ดินออกเป็นอีก ๗ แปลง เพื่อขายให้บุคคลอื่นใช้ปลูกบ้านพักตากอากาศ ส่วนที่ดินแปลงเดิมมีเนื้อที่คงเหลือประมาณ ๑ งาน ๑๘ ตารางวา ใช้เป็นทางเข้าออกไปสู่ชายทะเลชะอำ โดยอนุญาตให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่แบ่งแยกทั้ง ๗แปลงดังกล่าว ใช้ทางนั้นด้วย โดยมิได้มีเจตนายกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ และได้มีการชำระภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาในปี ๒๕๑๙ คุณหญิงบุญเลื่อนขายที่ดินที่แบ่งแยกทั้ง๗ แปลง ให้นายประสิทธิ์ เกษมสุวรรณ ภายหลังที่นายประสิทธิ์ถึงแก่ความตาย ทายาทได้ขายที่ดินทั้ง ๗ แปลงให้บริษัท ประสิทธิ์ธร จำกัด ซึ่งมีนางศศิธร นิธากร ภริยาผู้ฟ้องคดี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท จากนั้นวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ คุณหญิงบุญเลื่อนได้ขายที่ดินแปลงเดิมที่คงเหลือให้ผู้ฟ้องคดี เมื่อที่ดินของผู้ฟ้องคดีและของบริษัท ประสิทธิ์ธร จำกัด มีเนื้อที่ติดต่อกันจึงมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงแรม ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ก่อสร้างรั้วคอนกรีตตามแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือตามแบบ ค. ๓ เลขที่๕๒๑๐๖/๑๓๙๒ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ สั่งให้ผู้ฟ้องคดีระงับ การก่อสร้างรั้วไว้ก่อน โดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีได้ก่อสร้างรั้วโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ทั้งที่ รั้วที่ก่อสร้างไม่จำต้องขออนุญาตทำการก่อสร้าง คำสั่งดังกล่าวจึงมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีไม่ต้องการให้เกิดข้อขัดแย้งจึงได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างรั้วต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ แต่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือตามแบบ น. ๒ ที่ ๕๒๑๐๖/๑๘๗๓ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๖ แจ้งไม่อนุญาต
ให้ก่อสร้าง เนื่องจากชาวบ้านชุมชนหนองแจงคัดค้านว่าเป็นทางที่ชาวบ้านใช้สัญจรมากว่า ๑๐ ปีเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันมา จึงไม่สามารถอนุญาตให้ก่อสร้างจนกว่าจะหาข้อเท็จจริง ที่พิสูจน์ได้ว่าเส้นทางนี้ไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์ คำสั่งดังกล่าวจึงมิชอบด้วยกฎหมายเพราะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์และให้ผู้ฟ้องคดีมีหน้าที่พิสูจน์ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติยกอุทธรณ์ โดยวินิจฉัยว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดี เป็นทางสาธารณประโยชน์ ทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยเช่นนั้น นอกจากนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยังวินิจฉัยอุทธรณ์เกินกว่า ๖๐ วัน ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมายโดยส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ จึงขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งดังนี้
๑. เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามแบบ ค. ๓ เลขที่ ๕๒๑๐๖/๑๓๙๒ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน๒๕๔๖
๒. เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามแบบ น. ๒ ที่ ๕๒๑๐๖/๑๘๗๓ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม๒๕๔๖ และเพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็น ทางสาธารณประโยชน์
๓. เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ๑/๒๕๔๖ ซึ่งวินิจฉัยโดย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๑๒
๔. ให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ๑/๒๕๔๖ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นโมฆะ
๕. ให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีสิทธิก่อสร้างรั้วในที่ดินของผู้ฟ้องคดี
ก่อนสั่งคดีผู้ฟ้องคดีขอถอนฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๑๒ และขอถอนคำขอท้ายฟ้อง ข้อ ๕เนื่องจากเข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน ศาลปกครองกลางมีคำสั่งอนุญาต
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีระงับการก่อสร้างรั้วคอนกรีต เนื่องจากรั้วที่ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างติดต่อกับถนนเจ้าลายและถนนร่วมจิตต์ซึ่งเป็นทางสาธารณะ จึงเป็นอาคารตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ เมื่อผู้ฟ้องคดี ทำการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือไม่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงได้ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีระงับการก่อสร้างตามมาตรา ๔๐ (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อมาเมื่อผู้ฟ้องคดียื่นคำขออนุญาตก่อสร้างรั้วและผลการตรวจสอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ได้ความว่าที่ดินที่จะก่อสร้างเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จึงไม่สามารถอนุญาตให้ก่อสร้างได้ การสั่งให้ระงับการก่อสร้างและไม่อนุญาตให้ก่อสร้างรั้วของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอน ส่วนเรื่องการชำระภาษีบำรุงท้องที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้มีชื่อเดิมในโฉนดที่ดินก่อนหน้าผู้ฟ้องคดีได้มีการชำระภาษีบำรุงท้องที่ นอกจากนี้แผนที่บริเวณอำเภอชะอำจังหวัดเพชรบุรี ของกองสำรวจ สำนักผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าที่ดินเป็นทางเดิน และจากการตรวจสอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พบว่าพื้นผิวที่ดินมีสภาพเหมือน ทางลาดยาง เมื่อขุดลงไปพบว่ามีชั้นหินตลอดแนวของที่ดิน และมีประชาชนใช้เป็นทางสัญจรมาเป็นเวลา นานกว่า ๑๐ ปี
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน ๖๐ วัน และได้ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีตามระยะเวลาอันควรและชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มิได้กำหนดระยะเวลาการส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไว้ ส่วนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้พิจารณาหลักฐานจากเจ้าพนักงานที่ดินในเรื่องการถือกรรมสิทธิ์ นายอำเภอชะอำซึ่งดูแลที่ดินสาธารณะ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แล้ว เห็นชอบตามคำสั่งไม่อนุญาตให้ก่อสร้างรั้วของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ได้พิจารณาว่าที่ดินที่ขออนุญาตก่อสร้างเป็นทางสาธารณะ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ได้มีคำวินิจฉัยว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นทางสาธารณประโยชน์หรือไม่
ผู้ฟ้องคดีคัดค้านคำให้การว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๓๓ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน แต่ความจริงเป็นที่ดินคนละแปลงและมิใช่เป็นถนนซอยเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลงไม่มีเจตนากันไว้เพื่อเป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างรั้วคอนกรีตที่มีเพียงหลักหมุดด้านหนึ่งติดกับถนนร่วมจิตต์และหลักหมุดอีกด้านหนึ่งติดกับถนนเจ้าลาย ไม่มีเขตติดต่อกับทางสาธารณะ จึงไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ประชาชนชุมชนหนองแจงที่คัดค้านการก่อสร้างรั้วมีบ้านพักอาศัยห่างจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีไปประมาณ ๑ – ๒ กิโลเมตร และมีทางออก ด้านอื่นที่สะดวกกว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่มีอำนาจออกคำสั่งว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นที่สาธารณประโยชน์ การที่จะพิจารณาว่าที่ดินใดเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องการชำระภาษีบำรุงท้องที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลชะอำว่าคงค้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ชำระภาษีที่ค้างดังกล่าวแล้ว
ระหว่างพิจารณาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาล โดยเห็นว่าเป็นคดีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่๒ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่ากระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยการออกคำสั่งตามแบบ ค. ๓เลขที่ ๕๒๑๐๖/๑๓๙๒ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๖ ให้ผู้ฟ้องคดีระงับการก่อสร้างรั้วจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และคำสั่งตามแบบ น.๒ ที่ ๕๒๑๐๖/๑๘๗๓ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๖ ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างรั้วในที่สาธารณประโยชน์ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำวินิจฉัยที่ ๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๖ ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว จึงเป็นคำขอที่ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน
ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะโต้แย้งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ออกคำสั่ง คำวินิจฉัยและมีมติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ศาลจึงต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณีต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ประกอบประมวลกฎหมายที่ดินที่บัญญัติเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษคดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้ก่อสร้างรั้วตามแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๔๓๔ ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ (นายาง) จังหวัดเพชรบุรี ที่ซื้อมาจากผู้มีชื่อ ซึ่งผู้มีชื่อไม่ได้ ยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์และยังคงชำระภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอด แต่ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ สั่งให้ระงับการก่อสร้างโดยอ้างว่าทำการก่อสร้างโดยมิได้รับอนุญาต ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขออนุญาต ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็มีคำสั่งไม่อนุญาตโดยอ้างว่ามีประชาชนคัดค้านว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่ราษฎรใช้เป็นทางสัญจรไปมา เป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี ไม่สามารถอนุญาตให้ก่อสร้างได้จนกว่าจะหาข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ว่าที่ดินไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตนั้นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีมติยกอุทธรณ์ โดยเห็นว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นทางสาธารณประโยชน์ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยังได้วินิจฉัยอุทธรณ์เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า การออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ก่อสร้างรั้วชอบด้วยกฎหมายแล้วเพราะที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ได้วินิจฉัยอุทธรณ์โดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นชอบตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไม่อนุญาตให้ก่อสร้างรั้ว จึงมีมติยกอุทธรณ์โดยไม่ได้มีคำวินิจฉัยว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นทางสาธารณประโยชน์หรือไม่ ดังนั้น แม้ว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ระงับ การก่อสร้างรั้ว และคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ก่อสร้างรั้วจะสั่งโดยอาศัยเหตุแตกต่างกัน แต่ข้อพิพาทระหว่าง ผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ก็เป็นเรื่องการไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างรั้วในที่ดินมีโฉนดของผู้ฟ้องคดี โดยเหตุที่เห็นว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นทางสาธารณประโยชน์ และเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันมา การที่ศาลจะพิจารณาว่าคำสั่งไม่อนุญาตให้ก่อสร้างรั้วของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินที่ก่อสร้างรั้ว เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนปัญหาว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ระงับการก่อสร้างรั้วชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่นั้น จะเป็นประโยชน์แก่คดีของผู้ฟ้องคดีก็ต่อเมื่อศาลพิจารณาได้ความว่าที่ดิน ที่ก่อสร้างรั้วเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายวิทูร นิธากร ผู้ฟ้องคดี นายกเทศมนตรีตำบลชะอำ ที่ ๑ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จังหวัดเพชรบุรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดเพชรบุรี

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share