คำวินิจฉัยที่ 33/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๓๓/๒๕๔๗

วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๗

เรื่อง อำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลแขวงขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้อง และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็น มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นายอุทัย สิทธิเลาะ โดย นายเวียงศักดิ์ เปี่ยมสังวาลย์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งชมพู ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๔/๒๕๔๕ และได้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง สรุปได้ว่า ในปีงบประมาณ ๒๕๔๕ ผู้ถูกฟ้องคดีได้อนุมัติโครงการก่อสร้างถนนลูกรังสู่แหล่งการเกษตร จากบ้านดอนดู่ หมู่ที่ ๓ ตำบลทุ่งชมพูอำเภอภูเวียงจังหวัดขอนแก่น ถึงบริเวณแนวเขตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนอุบลรัตน์ โดยได้ทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยจิตวัฒน์ก่อสร้างให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้กำหนดและนำชี้สถานที่ที่จะทำการก่อสร้าง เริ่มลงมือก่อสร้างในเดือนมีนาคม ๒๕๔๕ เสร็จสิ้นงานตามสัญญาเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๕ ในการก่อสร้างส่วนหนึ่งของโครงการได้รุกล้ำผ่านเข้าไปในเขตที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๓๑๖ ตำบลทุ่งชมพู (หว้าทอง) อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นของผู้ฟ้องคดี โดยที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ให้ความยินยอมหรือสละที่ดินดังกล่าวให้สร้างถนนแต่อย่างใดเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ คิดเป็นเนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๕๓ ๕/๑๐ ตารางวา ซึ่งเดิมที่ดินในบริเวณดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้ขุดบ่อพักน้ำและคลองส่งน้ำตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๓ เพื่อสูบน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์มาใช้ในโครงการปลูกป่า โดยได้ขึ้นทะเบียนที่ดินเพื่อปลูกป่าตามโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกป่า ใช้งบประมาณก่อสร้าง ๕๘,๙๓๒ บาท ตามสัญญาจ้างทำของ ลงวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๓๓ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทำให้บ่อพักน้ำและคลองส่งน้ำเสียหายโดยสิ้นเชิง เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ฟ้องคดีทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ดังนี้
๑. ค่าเสียหายต่อการใช้สิทธิและประโยชน์ในที่ดินบริเวณที่ถูกโครงการรุกล้ำผ่านเนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๕๓ ๕/๑๐ ตารางวา คิดเป็นค่าเสียหาย ๖๙,๙๐๗.๕๐ บาท โดยคิดตามราคาประเมินที่ดินของสำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขาภูเวียง ราคาไร่ละ ๑๘,๐๐๐บาท
๒. ค่าเสียหายต่อการขาดประโยชน์จากบ่อพักน้ำและคลองส่งน้ำ โดยคิดราคาจ้างตามสัญญาจ้างทำของ เป็นเงินจำนวน ๕๘,๙๓๒ บาท
ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าเสียหายเป็นเงิน ๑๒๘,๘๓๙.๕๐ บาท
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจศาลว่า เป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และให้การปฏิเสธฟ้องว่าไม่ได้ก่อสร้างถนนลูกรังรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้ยินยอมตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่ได้สร้างไปตามแนวถนนสาธารณะเดิมซึ่งประชาชนได้ใช้เส้นทางดังกล่าวสัญจรไปมาเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการประมง เป็นประจำมานานเกินกว่า๑๐ ปีแล้ว โดยมีคำยืนยันของผู้สูงอายุในหมู่บ้านดอนดู่ หมู่ ๓ และหมู่บ้านใกล้เคียง อีกทั้งก่อนมีการก่อสร้างผู้ถูกฟ้องคดีได้แจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียง รวมทั้งผู้ฟ้องคดีทราบแล้ว ซึ่งผู้ฟ้องคดีและเจ้าของที่ดินข้างเคียงทุกรายก็ได้ยินยอมในการก่อสร้างแล้ว โดยเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้เซ็นยินยอมไว้เป็นหนังสือ ส่วนผู้ฟ้องคดีไม่ได้เซ็นแต่ก็ไม่ได้คัดค้านหรือโต้แย้งที่ดินของผู้ฟ้องคดีตั้งอยู่ตอนสุดท้ายของโครงการ ถ้าผู้ฟ้องคดีคัดค้านหรือโต้แย้งในขณะนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีก็จะต้องระงับโครงการก่อสร้างไว้ก่อน จนกว่าจะไม่มีผู้ใดคัดค้านจึงจะก่อสร้างต่อไปได้ ซึ่งในขณะมีการก่อสร้าง ผู้ถูกฟ้องคดีได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบและให้ไปดูสถานที่ก่อสร้างเพื่อป้องกันปัญหาการบุกรุก ผู้ฟ้องคดีได้ไปที่สถานที่ก่อสร้าง แต่ก็ไม่ได้ขัดขวางโต้แย้งหรือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการก่อสร้าง กลับปล่อยให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ในการก่อสร้างผู้ถูกฟ้องคดีก็ก่อสร้างอยู่นอกแนวเขตและนอกรั้วที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่๒๐๓๑๖ จำนวนเนื้อที่ ๕๓ ไร่ ๑ งาน ๖ ๕/๑๐ตารางวา ตามที่กล่าวอ้างในฟ้องแต่อย่างใด แต่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินเนื้อที่เพียง ๔๘ ไร่ ๑ งาน ๒๐ตารางวา เท่านั้น การที่ปรากฏหลักฐานในโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๐๓๑๖ ว่าผู้ฟ้องคดีมีกรรมสิทธิ์ในเนื้อที่ ๕๓ ไร่ ๑ งาน ๖ ๕/๑๐ ตารางวาเนื่องมาจากหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างถนนสาธารณะจนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๕ และเวลาผ่านไปแล้วเกือบ ๒ เดือน ผู้ฟ้องคดีจึงเพิ่งยื่นคำร้องขอสอบเขตโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ ๑๓พฤษภาคม ๒๕๔๕ โดยผู้ฟ้องคดีได้เคลื่อนย้ายหลักเขตที่ดินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งอยู่ติดกับแนวเขตที่ดินด้านทิศเหนือของผู้ฟ้องคดีออกไปหลายจุดจนคร่อมทับแนวถนนสาธารณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างดังกล่าว แล้วนำชี้แนวเขตที่ดินที่ไม่ถูกต้องต่อเจ้าพนักงาน เป็นเหตุให้มีการแก้ไขแผนที่และเนื้อที่ผิดไปจากความเป็นจริง มีเนื้อที่มากกว่าเดิม ๔ ไร่ ๑ งาน ๘๖๕/๑๐ ตารางวา
ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่๒๐๓๑๖ ตำบลทุ่งชมพู (หว้าทอง) อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ ๕๓ ไร่ ๑ งาน๖ ๕/๑๐ตารางวา ซึ่งมีโฉนดเป็นเอกสารสิทธิ ที่ดินบริเวณพิพาทนั้นเป็นเขตติดต่อกับที่ดินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ดินติดต่อกันทั้งสองแปลงล้วนแต่เป็นที่ดินมีเจ้าของมิใช่ที่ดินรกร้างว่างเปล่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามโครงการ ทำให้ส่วนหนึ่งของโครงการรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี เนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๕๓ ๕/๑๐ ตารางวา โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดี อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้บริหารซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี แต่ด้วยความจงใจและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของคณะผู้บริหารที่ไม่ได้จัดให้มีความยินยอมของเจ้าของที่ดินครบทุกราย แม้แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ไม่ได้ให้ความยินยอม กรณีนี้ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดี ในผลแห่งละเมิดที่คณะผู้บริหารซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้กระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ ซึ่งจะต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๔ ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองขอนแก่น ตามมาตรา ๙ (๓) และ (๖) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลปกครองขอนแก่นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดโดยก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ให้ความยินยอมและไม่ได้มีการเวนคืนที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ซึ่งการจัดให้มีและบำรุงรักษาถนนดังกล่าว เป็นหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ตามมาตรา ๖๗(๑) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และตามมาตรา ๑๖ (๒)แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้นหากผลของการก่อสร้างถนนตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การพิจารณาพิพากษาของศาลคดีนี้ ศาลย่อมยึดถือแนวเขตที่ดินและพื้นที่ตามโฉนดที่ดินที่ออกให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นเอกสารมหาชนเป็นสำคัญ ประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า การรังวัดสอบแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีกระทำโดยไม่ชอบ โดยมีการเคลื่อนย้ายหลักเขตที่ดินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและรุกล้ำเข้ามาในแนวถนนสาธารณะก่อนที่จะนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดนั้น เมื่อปรากฏว่าการรังวัดสอบเขตที่ดินได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเจ้าของที่ดินข้างเคียงทุกด้านได้ให้ความเห็นชอบมิได้มีประเด็นโต้แย้งคัดค้านกันแต่อย่างใด และรูปแผนที่ที่ดินของผู้ฟ้องคดีในโฉนดที่ดินไม่มีที่ดินด้านใดที่มีแนวเขตติดทางสาธารณะ ถ้าผู้ถูกฟ้องคดียังคงมีความเห็นว่า การรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการเคลื่อนย้ายหลักเขตที่ดินรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณะโดยมิชอบ ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลรักษาทางสาธารณะที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมที่ดินเพื่อให้มีการสอบสวนและเพิกถอนโฉนดที่ดินในส่วนที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใด ๆเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน เลขที่๒๐๓๑๖ อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ของผู้ฟ้องคดี ศาลย่อมต้องยอมรับว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวในสภาพปัจจุบันซึ่งเป็นเอกสารมหาชน เป็นเอกสารสิทธิที่ดินที่รับรองกรรมสิทธิ์ในที่ของผู้ฟ้องคดีตามกฎหมาย คดีนี้ศาลไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีก่อนที่จะพิจารณาประเด็นแห่งคดีนี้แต่อย่างใด คดีนี้จึงเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองขอนแก่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแขวงขอนแก่นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะโต้แย้งว่าผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่ประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามข้ออ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของผู้ฟ้องคดีและข้อต่อสู้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่อ้างว่าไม่ได้กระทำการตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหาในคดีนี้ต่อไปได้ ทั้งนี้แม้โฉนดที่ดินเลขที่๒๐๓๑๖ ตำบลทุ่งชมพู (หว้าทอง) อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ของผู้ฟ้องคดีเป็นเอกสารมหาชนก็ตาม แต่เอกสารมหาชนนั้น ตามมาตรา ๑๒๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร อันเป็นข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาดกรณีจึงไม่อาจฟังข้อเท็จจริงยุติได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งการพิจารณาในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นอกจากนี้ การพิจารณาสิทธิในที่ดินยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน และแม้การฟ้องคดีนี้จะเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดในที่ดิน แต่ศาลจำต้องพิจารณาถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นหลัก ดังนั้น ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงได้แก่ ศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๐/๒๕๔๕

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองทำละเมิดด้วยการก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเอกชนขอให้ชำระค่าเสียหาย อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งชมพู ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา๔๓จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีตั้งข้อหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทำละเมิดด้วยการก่อสร้างถนนลูกรังรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชนเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายโดยเสียสิทธิในที่ดินพิพาทและการใช้ประโยชน์จากบ่อพักน้ำกับคลองส่งน้ำของตนเองไม่ได้ อันเป็นการกระทำละเมิด ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ไม่ได้ก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่สร้างตามแนวถนนเดิม ซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ คดีนี้ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นละเมิดหรือไม่ และจะต้องชดใช้ค่าเสียหายกันเพียงใด ดังนั้น เมื่อศาลจำต้องพิจารณาถึงสิทธิของผู้ฟ้องคดีในที่ดินพิพาทที่เกิดเหตุแล้ว จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีละเมิดด้วยการก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดิน ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ระหว่าง นายอุทัย สิทธิเลาะ ผู้ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งชมพู ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแขวงขอนแก่น

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share