คำวินิจฉัยที่ 21/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๑/๒๕๔๖

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพัทยา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๔ ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีรเสถียร ได้ยื่นฟ้องกองทัพเรือต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๕๘๖/๒๕๔๔ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๓ ผู้ถูกฟ้องคดีโดยผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบได้ทำสัญญากับผู้ฟ้องคดีตามสัญญาเลขที่ ๒๐/งป. ๒๕๔๓ โดยผู้ฟ้องคดีตกลงรับจ้างทำงานก่อสร้างหลักเทียบเรือสองด้านบริเวณแอล.เอส.ที.แรมป์ ท่าเทียบเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีได้เรียกค่าปรับจากการที่ผู้ฟ้องคดีส่งมอบงานล่าช้าตามข้อ ๑๗ ของสัญญาจ้าง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีคิดค่าปรับเกินไปจากที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดไว้ กล่าวคือ ระเบียบฯ ข้อ ๑๓๔ วรรคหนึ่ง กำหนดให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ ๐.๐๑-๐.๑๐ ของราคางานจ้าง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีคิดค่าปรับในอัตราร้อยละ ๐.๔ ของราคางานจ้าง ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาทบทวนและแก้ไขเพื่อปรับลดค่าปรับ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ยอมแก้ไขปรับลดให้ ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีแก้ไขปรับลดค่าปรับให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนค่าปรับจำนวน ๒,๘๑๕,๗๐๓.๒๐ บาท ให้กับผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำให้การเพิ่มเติมพร้อมคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ศาลปกครอง เนื่องจากคดีนี้เป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับข้อตกลงในสัญญาจ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจปรับผู้ฟ้องคดีตามสัญญาจ้างหรือไม่ ซึ่งเป็นสัญญาทางแพ่งอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม สัญญาจ้างดังกล่าวไม่ใช่สัญญาทางปกครองเนื่องจากสัญญาจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ทำกับผู้ฟ้องคดีเป็นสัญญาก่อสร้างหลักเทียบเรือสองด้าน เพื่อใช้เทียบเรือระบายพลขนาดใหญ่ (L.C.U) และเรือยกพลขนาดใหญ่ (L.S.T) สำหรับใช้ในการขนถ่ายรถรบ (A.A.V.) กำลังพลและยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ใช้ในภารกิจในการยกพลขึ้นบกของผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้นไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีอำนาจฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีเรียกคืนค่าปรับต่อศาลปกครองได้ ซึ่งต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้ทำคำชี้แจงว่า ผู้ฟ้องคดีมีอำนาจฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ศาลปกครอง เพราะผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจากการวินิจฉัยสั่งการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ไม่คืนเงินค่าปรับที่รับเงินเกินจากที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่ขัดกับระเบียบและไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีจึงมีอำนาจฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการเรียกค่าปรับตามสัญญาจ้างตามสัญญาเลขที่ ๒๐/งป. ๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๔๓ รับจ้างทำงานก่อสร้างหลักเทียบเรือบริเวณ แอล.เอส.ที.แรมป์ ท่าเทียบเรือแหลมเทียน การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี โดยสัญญาดังกล่าวมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้แก่ กองทัพเรือเป็นหน่วยงานทางปกครองตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และสัญญานี้ยังมีลักษณะเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิของรัฐ เช่น ข้อ ๑๐ วรรคสอง ของสัญญาที่กำหนดไว้ให้ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะขอให้เปลี่ยนตัวผู้แทนได้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี โดยการแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีจะต้องทำการเปลี่ยนตัวโดยพลัน โดยไม่คิดราคาเพิ่มหรืออ้างเป็นเหตุเพื่อขยายอายุสัญญาอันเนื่องมาจากเหตุนี้ ข้อ ๑๑ วรรคสอง ของสัญญาที่กำหนดให้ความเสียหายใดๆ อันเกิดแก่งานที่ผู้ฟ้องคดีได้ทำขึ้น แม้จะเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย นอกจากกรณีอันเกิดจากความผิดของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจะต้องรับผิดโดยซ่อมแซมให้คืนดีหรือเปลี่ยนให้ใหม่โดยค่าใช้จ่ายของผู้ฟ้องคดีเอง หรือข้อ ๑๖ ของสัญญาที่กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีสิทธิที่จะสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทำงานพิเศษซึ่งไม่ได้แสดงไว้หรือรวมอยู่ในเอกสารสัญญา หากงานพิเศษนั้นๆ อยู่ในขอบข่ายทั่วไปแห่งวัตถุประสงค์ของสัญญานี้ นอกจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดียังมีสิทธิสั่งให้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขแบบรูปและข้อกำหนดต่างๆ ในเอกสารสัญญานี้ด้วย โดยไม่ทำให้สัญญาเป็นโมฆะแต่อย่างใด เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองบรรลุผลซึ่งในคดีนี้ได้แก่ การตั้งฐานทัพเรือเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากการรุกรานของต่างประเทศ ดังนั้น สัญญานี้จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ศาลจังหวัดพัทยาเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติในฐานะผู้รับจ้างกับผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างหลักเทียบเรือสองด้าน เพื่อใช้เทียบเรือระบายพลขนาดใหญ่ (L.C.U) และเรือยกพลขนาดใหญ่ (L.S.T) สำหรับใช้ในการขนถ่าย – รถรบ (A.A.V.) กำลังพลและยุทโธปกรณ์ทางทหารซึ่งเป็นสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีและโดยที่มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง กรณีจึงต้องพิจารณาว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้สัญญาทางปกครองมีลักษณะเป็นสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งต้องเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนรัฐและมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จากข้อเท็จจริงในคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ตามลักษณะสัญญาจ้างนั้นเห็นว่า เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นฝ่ายปกครองว่าจ้างผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชนสร้างหลักเทียบเรือสองด้านซึ่งใช้ในภารกิจเฉพาะของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ใช่สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจึงมิใช่สัญญาทางปกครอง การที่คู่สัญญาซึ่งทำสัญญาจ้างต่อกันและมีการกำหนดเบี้ยปรับตามสัญญาไว้ เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิตามสัญญาที่ทำกันไว้แต่เดิมโดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้กระทำการอื่นใดหรือมีคำสั่งอื่นใดบังคับต่อผู้ฟ้องคดีอันไม่ชอบธรรมนอกเหนือจากนั้นอีก ลักษณะของสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (ศาลจังหวัดพัทยา)

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีพิพาทเกี่ยวกับการเรียกค่าปรับตามสัญญาจ้างก่อสร้างหลักเทียบเรือของกองทัพเรือ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นเอกชนทำสัญญารับจ้างก่อสร้างหลักเทียบเรือกับกองทัพเรือ ผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อใช้เทียบเรือระบายพลขนาดใหญ่ เรือยกพลขนาดใหญ่ ขนถ่ายรถรบ กำลังพลและยุทโธปกรณ์ทางทหาร แต่ผู้ฟ้องคดีส่งมอบงานล่าช้า ผู้ถูกฟ้องคดีจึงคิดค่าปรับในอัตราร้อยละ ๐.๔ ของค่าจ้างตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า อัตราค่าปรับดังกล่าวสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าสัญญาพิพาทเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๓บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และสัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๖ มาตรา ๑๗ ประกอบพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ส่วนราชการกองทัพเรือ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๙ (๑๒) มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ซึ่งภารกิจนี้ถือว่าเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่งที่รัฐเป็นผู้จัดทำขึ้นโดยผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องจัดให้มีอาวุธ ยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น รวมถึงการจัดให้มีหลักเทียบเรือเพื่อใช้ในภารกิจด้วย หลักเทียบเรือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินบริการสาธารณะดังกล่าวให้บรรลุผล เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีว่าจ้างผู้ฟ้องคดีให้ทำการก่อสร้างหลักเทียบเรือ สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๐/๒๕๔๕ และที่ ๑๘/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับการเรียกค่าปรับตามสัญญาจ้างก่อสร้างหลักเทียบเรือระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีรเสถียร ผู้ฟ้องคดี กับกองทัพเรือ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share