คำวินิจฉัยที่ 3/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓/๒๕๔๙

วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสกลนคร

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
ศาลปกครองขอนแก่นได้รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๓๙๐/๒๕๔๖ ระหว่าง นายพิมล เสมอพิทักษ์ ผู้ฟ้องคดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสกลนคร ที่ ๑ กรมประมง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๔๓๖, ๖๘๙๓, ๖๔๘๗ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร และที่ดินตามใบจองทะเบียนเล่ม ๖๙ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โดยด้านทิศใต้ของโฉนดแปลงแรกมีแนวเขตจดกับบริเวณหนองหาร ซึ่งที่ดิน ทั้งสี่แปลงดังกล่าวถูกน้ำหนองหารท่วมในฤดูเก็บเกี่ยวข้าวทุกปีตั้งแต่ที่ทางราชการสร้างประตูระบายน้ำหนองหาร (ประตูน้ำสุรัสวดี)เป็นต้นมา และได้ร้องขอผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาระดับน้ำหนองหารให้ระบายน้ำลดระดับน้ำหนองหารลงให้อยู่ในแนวขอบเขตหนองหารทุกปี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินการแต่ก็ยังไม่เพียงพอและเป็นไปอย่างล่าช้าเกินสมควร ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายต้นข้าวล้มรวงข้าวจมน้ำเสียหาย การเก็บเกี่ยวและลำเลียงข้าวยากลำบาก การหาคนรับจ้างเกี่ยวข้าวหายากและค่าแรงงานก็สูง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีลดระดับน้ำหนองหารลงอยู่ระดับ ๑๕๖.๔๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางก่อนวันที่๑๕ พฤศจิกายนของทุกปี และให้ลดระดับน้ำหนองหารลงอยู่ระดับ ๑๕๖.๒๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางก่อนวันที่ ๑ มีนาคมของทุกปี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า การก่อสร้างประตูระบายน้ำอาศัยอำนาจการบริหารจัดการแหล่งน้ำตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร พุทธศักราช ๒๔๘๔ โดยกำหนดให้พื้นที่หนองหารเป็นพื้นที่บำรุงพันธุ์สัตว์น้ำมีเนื้อที่ประมาณ๑๑๐,๐๐๐ ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดพื้นที่อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันมีจำนวนเนื้อที่ลดลงเหลือเพียงประมาณ ๗๗,๐๐๐ ไร่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอตั้งข้อสังเกตว่าโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นเอกสารสิทธิที่ทางราชการออกให้เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๓ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสกลนครจังหวัดสกลนคร พุทธศักราช ๒๔๘๔ น่าเชื่อว่าเป็นการได้มาจากการเข้าถือครองใช้ประโยชน์พื้นที่ที่ดินตื้นเขินในบริเวณหนองหาร การเปิดปิดประตูระบายน้ำคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนที่อาศัยแหล่งน้ำเป็นสำคัญมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ใดให้ได้รับความเดือดร้อน และน้ำบริเวณหนองหารก็ลดลงโดยธรรมชาติเนื่องจากนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในสาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ สำหรับที่นาของผู้ฟ้องคดีในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวน้ำยังคงท่วมอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีตั้งข้อหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐระบายน้ำออกจากหนองหารล่าช้าเกินสมควร ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การต่อสู้ว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่พิพาททั้ง ๓ แปลง น่าเชื่อว่าได้มาจากการถือครองที่ดินตื้นเขินในบริเวณหนองหาร ซึ่งเป็นการต่อสู้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ออก โฉนดที่ดินบุกรุกเขตในบริเวณหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสกลนครฯ พุทธศักราช ๒๔๘๔ คดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสกลนครฯพุทธศักราช ๒๔๘๔ หรือไม่ จึงจะพิจารณาต่อไปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายและเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองหรือไม่ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดสกลนครพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกรมประมง จึงถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาระดับน้ำในหนองหารตามที่กฎหมายกำหนด ทำการระบายน้ำในหนองหารล่าช้าเกินสมควร เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ซึ่งประเด็นหลักแห่งคดีมีเพียงว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีหน้าที่รักษาระดับน้ำในหนองหารได้ปฏิบัติหน้าที่ในการระบายน้ำในหนองหารล่าช้าเกินสมควร อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่เท่านั้น หาจำต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของ ผู้ฟ้องคดีไม่ เนื่องจากไม่มีประเด็นดังกล่าว โดยในข้อนี้จะเห็นได้จากคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งให้การต่อสู้แต่เพียงว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นเอกสารสิทธิที่ทางราชการออกให้เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๓ ซึ่งเป็นการออกให้ภายหลังจากที่ได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตต์ หวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร พ.ศ.๒๔๘๔จึงน่าเชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้โฉนดที่ดินมาเนื่องจากการเข้าถือครองใช้ประโยชน์ที่ดินตื้นเขินในบริเวณหนองหารอันเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ก่อให้เกิดประเด็นว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสกลนครจังหวัดสกลนคร พ.ศ. ๒๔๘๔ หรือไม่ ดังนั้น หาจำต้องพิจารณาถึงสิทธิในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีไม่ คดีนี้จึงไม่เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสกลนคร ที่ ๑ กรมประมง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาระดับน้ำในหนองหารตามที่กฎหมายกำหนด ทำการระบายน้ำในหนองหารล่าช้าเกินสมควรไม่ควบคุมรักษาระดับน้ำให้เหมาะสม ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๔๓๖, ๖๘๙๓, ๖๔๘๗ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร และที่ดินตามใบจองทะเบียนเล่ม ๖๙ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ของผู้ฟ้องคดีถูกน้ำหนองหารท่วมในฤดูเก็บเกี่ยวข้าวทุกปี และได้รับความเดือดร้อนเสียหายต้นข้าวล้มรวงข้าวจมน้ำเสียหาย การเก็บเกี่ยวและลำเลียงข้าวยากลำบาก การหาคนรับจ้างเกี่ยวข้าวหายากและค่าแรงงานก็สูง ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีลดระดับน้ำหนองหารลงอยู่ระดับ ๑๕๖.๔๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางก่อนวันที่ ๑๕ พฤศจิกายนของทุกปี และให้ลดระดับน้ำหนองหารลงอยู่ระดับ ๑๕๖.๒๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางก่อนวันที่ ๑มีนาคมของทุกปี ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การก่อสร้างประตูระบายน้ำอาศัยอำนาจการบริหารจัดการแหล่งน้ำตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร พุทธศักราช๒๔๘๔ ที่กำหนดให้พื้นที่หนองหารเป็นพื้นที่บำรุงพันธุ์สัตว์น้ำมีเนื้อที่ประมาณ ๑๑๐,๐๐๐ ไร่ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๑๕ กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดพื้นที่อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันมีจำนวนเนื้อที่ลดลงเหลือเพียงประมาณ ๗๗,๐๐๐ ไร่ การเปิดปิดประตูระบายน้ำคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนที่อาศัยแหล่งน้ำเป็นสำคัญ มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ใดให้ได้รับความเดือดร้อนสำหรับที่นาของผู้ฟ้องคดีในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวน้ำยังคงท่วมอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิงขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและบริหารจัดการแหล่งน้ำหนองหารเพื่อประโยชน์ในการบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร พุทธศักราช ๒๔๘๔ ประกอบพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ทำการระบายน้ำใน หนองหารล่าช้าเกินสมควรและไม่ควบคุมระดับน้ำให้เหมาะสม ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่น้ำท่วมที่ดินของผู้ฟ้องคดี เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การบริหารจัดการน้ำตลอดทั้งการระบายน้ำได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย มิได้เจตนากลั่นแกล้งผู้ใดให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นายพิมล เสมอพิทักษ์ ผู้ฟ้องคดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสกลนคร ที่ ๑ กรมประมง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ)วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share