คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 632/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ตามคำขอโอนสิทธิการเช่าซื้อจะระบุว่า คำขอยังไม่มีผลผูกพันโจทก์จนกว่าจะทำการตรวจสอบหลักฐานของผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันรายใหม่และอนุมัติให้มีการโอนสิทธิการเช่าซื้อ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์คืนเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระเป็นค่าเช่าซื้อล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 และให้ ข. ผู้เช่าซื้อรายใหม่กับผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน และยอมให้ ศ. มอบรถยนต์คันพิพาทให้แก่ ข. ผู้เช่าซื้อรายใหม่ รวมทั้งรับเงินค่าเช่าซื้อจาก ข. ต่อมาถึงสี่งวด และงวดที่ 5 บางส่วนแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงเลิกสัญญาเช่าซื้อกันโดยปริยายแล้ว โดยถือว่า ข. ผู้เช่าซื้อรายใหม่รับรถคันที่เช่าซื้อไปแทนโจทก์ สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงสิ้นผลผูกพัน จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์ใช้สอยรถยนต์จำนวน 165,000 บาท ค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่จำนวน 237,962 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าใช้จ่ายในการยึดรถยนต์คืนเป็นเงินจำนวน 9,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน เซฟิโร หมายเลขทะเบียน 3 ธ-2305 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 535,770 บาท ตกลงผ่อนชำระ 30 งวดๆ ละ 17,959 บาท ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2538 และทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อประมาณ 2 สัปดาห์ จำเลยที่ 1 ขายรถยนต์ดังกล่าวให้แก่นายศุภชัยเป็นการขายเงินดาวน์ และเมื่อเดือนกันยายน 2538 นายขนิษฐ์มาขอซื้อรถคันที่เช่าซื้อจากนายศุภชัย โดยนายขนิษฐ์จะต้องไปผ่อนชำระค่าเช่าซื้อกับโจทก์ นายศุภชัยได้ติดต่อขอวงเงินกู้จากโจทก์และนัดให้จำเลยที่ 1 ไปทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าซื้อให้แก่นายขนิษฐ์ ต่อมีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 ประจำวันที่ 5 ธันวาคม 2538 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองมีจำเลยที่ 1 นายศุภชัยและนายขนิษฐ์เบิกความสอดคล้องกันได้ความว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 ได้ทำคำขอโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทให้แก่นายขนิษฐ์ที่บริษัทโจทก์มีพนักงานของโจทก์ลงชื่อเป็นพยาน โจทก์ได้มอบเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าคืนให้แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ให้นายขนิษฐ์กับผู้ค้ำประกันลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันใหม่ วันรุ่งขึ้นหลังทำคำขอโอนสิทธิการเช่าซื้อ พนักงานของโจทก์แจ้งกับนายศุภชัยที่โทรศัพท์สอบถามว่าสามารถส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อให้แก่นายขนิษฐ์ได้ นายศุภชัยจึงมอบรถยนต์ให้แก่นายขนิษฐ์ไป แล้วนายขนิษฐ์ได้ชำระค่าเช่าซื้อต่อมาถึงงวดที่ 4 และงวดที่ 5 จากนั้นไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้ออีก โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่นายกฤตผู้รับมอบอำนาจโจทก์กลับเบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 มาทำคำเสนอขอโอนสิทธิการเช่าซื้อให้นายขนิษฐ์โดยพยานลงชื่อเป็นพยานในคำขอโอนสิทธิการเช่าซื้อจริงและโจทก์ให้นายขนิษฐ์ลงชื่อในแบบพิมพ์สัญญาเช่าซื้อ เจือสมข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองเห็นว่า แม้ตามคำขอโอนสิทธิการเช่าซื้อจะระบุว่าคำขอยังไม่มีผลผูกพันโจทก์จนกว่าจะทำการตรวจสอบหลักฐานของผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันรายใหม่และอนุมัติให้มีการโอนสิทธิการเช่าซื้อ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์คืนเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระเป็นค่าเช่าซื้อล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 และให้นายขนิษฐ์ผู้เช่าซื้อรายใหม่กับผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญาเช่าซื้อและยอมให้นายศุภชัยมอบรถยนต์คันพิพาทให้แก่นายขนิษฐ์ผู้เช่าซื้อรายใหม่ รวมทั้งรับเงินค่าเช่าซื้อจากนายขนิษฐ์ต่อมาถึงสี่งวด และงวดที่ 5 บางส่วนแสดงว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงเลิกสัญญาเช่าซื้อกันโดยปริยายแล้ว โดยถือว่านายขนิษฐ์ผู้เช่าซื้อรายใหม่รับรถคันที่เช่าซื้อไปแทนโจทก์ สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงสิ้นผลผูกพัน จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ ฎีกาข้ออื่นของโจทก์เป็นข้อปลีกย่อยไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share