แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 572 เช่าซื้อคือสัญญาซึ่ง “เจ้าของ” เอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ซึ่งผู้มีอำนาจทำสัญญาจึงต้องเป็น “เจ้าของ” แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อในอนาคต หาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ “เจ้าของ” จึงหมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อและหมายรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย เมื่อ ค. ได้ซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาทมาจาก ห. โดย ห. ได้ทำหนังสือมอบอำนาจโอนลอยทางทะเบียนให้ ค. ไว้แล้ว เพียงจะนำไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดย ค. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ด้วย เท่ากับว่าจะโอนเป็นชื่อของบริษัทโจทก์เมื่อใดก็ได้ ต่อมาโจทก์ได้ให้ ห. เช่าซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาท และ ห. นำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย ดังนั้น กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็น “เจ้าของ” รถแทรกเตอร์คันพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ห. ผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์โดยไม่นำค่าเช่าซื้อที่ค้างไปชำระให้แก่โจทก์แต่กลับนำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยึดรถแทรกเตอร์คันพิพาทไว้จำต้องคืนให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ได้ใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถแทรกเตอร์ ยี่ห้อโคมัตสุ หมายเลขเครื่อง 6 D 105-81092 คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงินจำนวน 408,000 บาท และให้ชำระค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถแทรกเตอร์คืนหรือชดใช้ราคา
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยส่งมอบรถแทรกเตอร์ยี่ห้อโคมัตสุ หมายเลขเครื่อง 6 D 105-81092 แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ หากไม่สามารถส่งคืนได้ให้ชดใช้ราคา 391,000 บาท แทน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า รถแทรกเตอร์คันพิพาทเดิมเป็นของบริษัท ไฮเวย์ แทรกเตอร์ จำกัด และได้ขายให้แก่นายหร่ายไป ต่อมานายหร่ายขัดสนทางการเงินจึงไปยืมเงินนายครองทรัพย์และต่อมาได้ขายรถแทรกเตอร์คันพิพาทให้แก่นายครองทรัพย์ ทั้งนี้ รถแทรกเตอร์คันพิพาทได้มอบอำนาจให้โอนลอยทางทะเบียนกันไว้ในทุกขั้นตอนของการซื้อขายแล้วเพียงแต่ยังมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์เท่านั้น ปัจจุบันจึงยังเป็นชื่อของบริษัท ไฮเวย์ แทรกเตอร์ จำกัด สำหรับนายครองทรัพย์ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทครองทรัพย์ยนต์ จำกัด ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้ด้วยตามภาพถ่ายหนังสือรับรอง ต่อมาโจทก์ได้ให้นายหร่ายเช่าซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาทนี้ไปตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อ ต่อมานายหร่ายนำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย มีปัญหาต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาทกับนายหร่ายหรือไม่ จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากยังมิได้เป็นเจ้าของรถแทรกเตอร์คันพิพาทแต่อย่างใด เนื่องจากยังมิได้รับการโอนทะเบียนมาอย่างถูกต้อง เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 เช่าซื้อคือสัญญาซึ่ง “เจ้าของ” เอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ซึ่งผู้มีอำนาจทำสัญญาจึงต้องเป็น “เจ้าของ” แต่โดยสภาพของสัญญาเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินย่อมจะโอนไปยังผู้เช่าซื้อในอนาคต หาได้โอนกรรมสิทธิ์ในทันทีขณะทำสัญญาไม่ “เจ้าของ” จึงหมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินขณะทำสัญญาเช่าซื้อและหมายรวมถึงผู้ที่จะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในอนาคตโดยชอบด้วย คดีนี้เมื่อนายครองทรัพย์ได้ซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาทมาจากนายหร่ายโดยนายหร่ายได้ทำหนังสือมอบอำนาจโอนลอยทางทะเบียนให้นายครองทรัพย์ไว้แล้วเพียงแต่จะนำไปเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น โดยนายครองทรัพย์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ด้วยเท่ากับว่าจะโอนเป็นชื่อของบริษัทโจทก์เมื่อใดก็ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถแทรกเตอร์คันพิพาทกับนายหร่ายโดยข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายหร่ายได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ไปแล้ว 1 งวด เช่นนี้ กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็น “เจ้าของ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 มีอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายหร่ายผิดสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์โดยไม่นำค่าเช่าซื้อที่ค้างไปชำระให้แก่โจทก์ แต่กลับนำรถแทรกเตอร์คันพิพาทไปขายให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะยึดรถแทรกเตอร์คันพิพาทไว้ จำต้องคืนให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ได้ใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไว้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาประการอื่นของจำเลยไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน