คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตและความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ เป็นความผิดต่างฐานกันสามารถแยกการกระทำต่างหากจากกันได้ แม้โจทก์บรรยายฟ้องตอนหลังว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดว่าสามารถหางานและจัดส่งผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่สามารถส่งผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศได้ อันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ด คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้เงินเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งมีผลเพียงทำให้ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ แต่ฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้ขัดแย้งกันจนไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นความผิดอีกฐานหนึ่งต่างหากแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดหางานโดยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานทั่วไป รวมทั้งนายบุญกับพวกรวม 21 คน ผู้เสียหายซึ่งประสงค์จะไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ประเทศสิงคโปร์ ประเทศดูไบ (ที่ถูกประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และประเทศบรูไนดารุสซาลาม กับนายจ้างที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดว่า จำเลยทั้งสองสามารถหางานและจัดส่งผู้เสียหายที่สนใจไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ประเทศสิงคโปร์ ประเทศดูไบ (ที่ถูก ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และประเทศบรูไนดารุสซาลาม ในตำแหน่งคนงานทำสวน กรรมกร คนทำความสะอาด คนงานโรงงานทอผ้า เกษตรกร ช่างไม้ และช่างเครื่องยนต์ โดยจะได้ค่าจ้างเดือนละประมาณ 10,000 บาท ถึง 25,000 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียหายที่สนใจจะต้องเสียเงินค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงินประมาณ 10,000 บาท ถึง 123,000 บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และไม่สามารถส่งผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศได้เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดหลงเชื่อและสมัครงานแก่จำเลยทั้งสองโดยชำระเงินค่าบริการจัดหางานให้แก่จำเลยทั้งสองรวมทั้งสิ้น 657,500 บาท ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี, 92 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี จำคุก 3 ปี คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2550 ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย และสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยที่ 1 อาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับ สรุปได้ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีข้อน่าระแวงสงสัยหลายประการว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบแต่อย่างใด
คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขัดแย้งกันเองจนไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกได้ร่วมกันกระทำความผิดในความผิดฐานใดฐานหนึ่ง เห็นว่า ความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นความผิดต่างฐานกันสามารถแยกการกระทำต่างหากจากกันได้ แม้คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องตอนหลังว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดว่า จำเลยทั้งสองสามารถหางานและจัดส่งผู้เสียหายที่สนใจไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล ประเทศสิงคโปร์ ประเทศดูไบ (ที่ถูก ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และประเทศบรูไนดารุสซาลาม ในตำแหน่งคนงานทำสวน กรรมกร คนทำความสะอาด คนงานโรงงานทอผ้า เกษตรกร ช่างไม้ และช่างเครื่องยนต์ โดยจะได้ค่าจ้างเดือนละประมาณ 10,000 บาท ถึง 25,000 บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่สามารถที่จะส่งผู้เสียหายไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวได้อันเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ด คงมีแต่เจตนาหลอกลวงเพื่อจะได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งมีผลเพียงทำให้ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวได้ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วเท่านั้น ฟ้องโจทก์ไม่ได้ขัดแย้งกันจนไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ซึ่งเป็นความผิดอีกฐานหนึ่งต่างหากแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share