คำสั่งคำร้องที่ 984/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1ในส่วนขอเรียกเบี้ยปรับเพิ่มเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง และมีทุนทรัพย์ไม่เกิน200,000 บาท ไม่มีผู้พิพากษาหรือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์รับรองหรืออนุญาตให้ฎีกาได้คดีจึง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก สำหรับฎีกาในเรื่องเขตอำนาจศาลและคำขอ เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้น เห็นว่าจำเลยเอง ก็ยื่นคำฟ้องแย้งต่อศาลแพ่งเท่ากับจำเลยยอมรับแล้วว่า ศาลแพ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ แม้จะเป็นข้อกฎหมาย แต่เห็นว่าไม่เป็นสาระแก่คดีที่ควรได้ รับวินิจฉัยจากศาลฎีกา จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1ทั้งหมด
จำเลยที่ 1 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่าศาลแพ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ ควรเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมฟ้องแย้งหรือไม่ และจำเลยที่ 1 จะได้รับเบี้ยปรับรายวันอีกหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว(อันดับ 93 แผ่นที่ 2-3)
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน25,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินนั้นนับแต่ วันฟ้อง (24 มิถุนายน 2531) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ส่งสัญญาค้ำประกันของ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางแค ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2530 คืนแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1ให้โจทก์ชำระเงินค่าประกันการปฏิบัติตามสัญญาจำนวน 15,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 คำฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา(อันดับ 91)
จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 92)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลแพ่งไม่มี อำนาจพิจารณาคดีนี้ ศาลควรเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1จะได้รับเบี้ยปรับรายวันด้วยเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จากศาลฎีกานั้น เห็นว่า ศาลแพ่งมีหรือไม่มีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีนี้นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ตามพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม มาตรา 14(5) บัญญัติว่า ศาลแพ่งและศาลอาญามีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร นอกจากท้องที่ที่อยู่ใน เขตของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ศาลแพ่งธนบุรีศาลอาญาธนบุรี และศาลจังหวัดมีนบุรีแต่บรรดาคดีที่เกิดขึ้น นอกเขตศาลแพ่งและศาลอาญานั้น จะยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งหรือ ศาลอาญาก็ได้ ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลนั้น ๆ ที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้ คดีนี้ศาลแพ่งใช้ดุลพินิจรับคดีไว้พิจารณาแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา อีก ส่วนปัญหาว่าศาลควรเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 จะได้รับเบี้ยปรับรายวันด้วยนั้น เป็นปัญหาโต้แย้งดุลพินิจของศาล เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ยกคำร้อง

Share