แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จากบทบัญญัติ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฯ มาตรา 36 ทวิ ผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 จะถือว่าละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์ ต่อเมื่อการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 มีขอบเขตของการประดิษฐ์ตามที่ระบุในข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์ ขอบเขตของการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์มีเพียงใดจะต้องพิจารณาลักษณะของการประดิษฐ์ตามที่ระบุในรายละเอียดการประดิษฐ์และรูปเขียนประกอบด้วย ขอบเขตของการประดิษฐ์ดังกล่าวย่อมคลุมถึงลักษณะของการประดิษฐ์ที่แม้จะมิได้ระบุในข้อถือสิทธิโดยเฉพาะเจาะจง แต่เป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติประโยชน์ใช้สอย และทำให้เกิดผลทำนองเดียวกับลักษณะของการประดิษฐ์ที่ระบุในข้อถือสิทธิตามความเห็นของบุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์นั้นด้วย สิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์มีข้อถือสิทธิรวม 11 ข้อ ส่วนผลิตภัณฑ์ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับขอบเขตของการประดิษฐ์ตามที่ระบุในข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์แล้ว จะเห็นได้ว่าการปรับความตื้นและลึกของกระทะที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 และตามข้อถือสิทธิข้อ 2 และรูปที่ 9 ของสิทธิบัตรของจำเลยที่ 1 มีวิถีทางในการปรับโดยมีชิ้นส่วนที่มีการเชื่อมกันโดยไม่มีการเคลื่อนไหวตามกันระหว่างวงแหวนและกระทะอาหารเช่นเดียวกับข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์ข้อ 1, 2 และ 4 ทั้งกรรมวิธีการใช้ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต่างกับกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์ข้อ 10 และ 11 โดยโครงสร้างหลักและกรรมวิธีการใช้ ตลอดจนประโยชน์ใช้สอยของผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 เป็นเช่นเดียวกับของโจทก์ แม้จะมีข้อแตกต่างกันในข้อปลีกย่อยก็ถือได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 มีขอบเขตของการประดิษฐ์เช่นเดียวกับที่ระบุในข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและให้จำเลยที่ 3 นำเข้ามาในราชอาณาจักรจึงเป็นการร่วมกันละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกาและดินแดนไต้หวัน แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้อ้างว่าได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าวมาก่อนโจทก์ จึงไม่มีผลทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิบัตรดังกล่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ของประเทศไทยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร ฯ มาตรา 36 ที่บุคคลอื่นจะละเมิดมิได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 หยุดการกระทำการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสำหรับสัตว์ปีก และวิธีการนำเอาลูกไก่เข้าไปในกรงเลี้ยง ตามสิทธิบัตรของโจทก์ โดยห้ามผลิตและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดสิทธิบัตรจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของดินแดนไต้หวัน จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศไทย โจทก์เป็นเจ้าของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสำหรับสัตว์ปีกและวิธีการนำเอาลูกไก่เข้าไปในกรงเลี้ยงตามสิทธิบัตรเลขที่ 9634 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2544 จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดสิทธิบัตรโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ร่วมกันผลิตผลิตภัณฑ์ตรงกับข้อถือสิทธิของโจทก์ และร่วมกับจำเลยที่ 3 นำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ และนำมาแสดงในงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์ปีก ณ บริเวณอาคารศูนย์ประชุมนานาชาติสิริกิติ์ ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสามกระทำการละเมิดสิทธิบัตรโจทก์และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 900,000 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าการบังคับตามสิทธิของโจทก์จะเสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ได้ละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ตรงกับข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรโจทก์และผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 ได้รับการจดสิทธิบัตรที่ดินแดนไต้หวันตามสิทธิบัตรหมายเลข 141029 และประเทศสหรัฐอเมริกาตามสิทธิบัตรหมายเลข 5462017 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญหาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 หยุดการกระทำการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสำหรับสัตว์ปีกและวิธีการนำเอาลูกไก่เข้าไปในกรงเลี้ยง ตามสิทธิบัตรเลขที่ 9634 ของโจทก์ โดยห้ามผลิตและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดสิทธิบัตร ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีว่า ผลิตภัณฑ์ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 9634 ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 ทวิ บัญญัติว่า “สิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรตามมาตรา 36 ในการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรมีขอบเขตดังระบุในข้อถือสิทธิ ในการวินิจฉัยขอบเขตของการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิ ให้พิจารณาลักษณะของการประดิษฐ์ที่ระบุในรายละเอียดการประดิษฐ์และรูปเขียนประกอบด้วย
ขอบเขตของการประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครองย่อมคลุมถึงลักษณะของการประดิษฐ์ที่แม้จะมิได้ระบุในข้อถือสิทธิโดยเฉพาะเจาะจง แต่เป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติประโยชน์ใช้สอยและทำให้เกิดผลทำนองเดียวกับลักษณะของการประดิษฐ์ที่ระบุไว้ในข้อถือสิทธิตามความเห็นของบุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์นั้น” จากบทบัญญัตินี้ผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 จะถือว่าละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกสิทธิบัตรเลขที่ 9634 ของโจทก์ ต่อเมื่อการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 มีขอบเขตของการประดิษฐ์ตามที่ระบุในข้อถือสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกสิทธิบัตรเลขที่ 9634 ของโจทก์ ขอบเขตของการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์มีเพียงใด จะต้องพิจารณาลักษณะของการประดิษฐ์ตามที่ระบุในรายละเอียดการประดิษฐ์และรูปเขียนประกอบด้วย ขอบเขตของการประดิษฐ์ดังกล่าวย่อมคลุมถึงลักษณะของการประดิษฐ์ที่แม้จะมิได้ระบุในข้อถือสิทธิโดยเฉพาะเจาะจง แต่เป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติประโยชน์ใช้สอย และทำให้เกิดผลทำนองเดียวกับลักษณะของการประดิษฐ์ที่ระบุในข้อถือสิทธิตามความเห็นของบุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะ หรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์นั้นด้วย กรณีนี้สิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกสิทธิบัตรเลขที่ 9634 ของโจทก์มีข้อถือสิทธิรวม 11 ข้อ จากข้อถือสิทธิทั้ง 11 ข้อ อาจสรุปขอบเขตของการประดิษฐ์ได้ดังนี้ “ที่ให้อาหารสัตว์ปีก ประกอบด้วย ท่ออาหารที่ตั้งอยู่ในแนวตั้ง ปรับให้ติดตั้งบนตัวลำเลียงอาหารในแนวนอนเพื่อรองรับอาหารจากท่อลำเลียงอาหาร ท่ออาหารมีส่วนด้านบนยึดอยู่กับท่อลำเลียงอาหาร และส่วนล่างที่เคลื่อนได้ในเชิงแกน ตามการเคลื่อนตัวของส่วนบนระหว่างตำแหน่งที่ขยายตัวออกและตำแหน่งที่ยุบตัว กระทะอาหารจะอยู่ใต้ปลายด้านล่างของท่ออาหาร เพื่อรองรับอาหาร มีการเชื่อมต่อแบบเคลื่อนไหวจะมีขอบอยู่ในแนวตั้ง ล้อมรอบส่วนรอบนอกของกระทะอาหาร และให้มีการเคลื่อนไหวสัมพันธ์กันระหว่างกระทะอาหารและท่ออาหารระหว่างตำแหน่งที่ขยายตัวออก ที่ซึ่งท่ออาหารอยู่ในตำแหน่งที่ขยายตัวออกของมัน และที่ซึ่งขอบจะยกขึ้นเหนือระดับของกระทะอาหารเพื่อช่วยในการบรรจุอาหารภายในกระทะอาหาร และตำแหน่งที่ลดลง ที่ซึ่งกระทะอาหารตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งขอบจะถูกลดลงตามการลดลงของกระทะอาหาร เพื่อที่จะลดความสูงของกระทะอาหารเพื่อให้ลูกไก่หรือสัตว์อื่นสามารถเห็นอาหารที่อยู่ภายในกระทะอาหารและมีช่องทางเข้าถึงอาหารในที่นั้นได้” ผลิตภัณฑ์ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 ตามวัตถุพยานที่ได้รับสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เมื่อเปรียบเทียบกับขอบเขตของการประดิษฐ์ตามที่ระบุในข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรที่ให้อาหารสัตว์ปีกเลขที่ 9634 ของโจทก์แล้ว จะเห็นได้ว่า การปรับความตื้นและลึกของกระทะที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 และตามข้อถือสิทธิข้อ 2 และรูปที่ 9 ของสิทธิบัตรของจำเลยที่ 1 มีวิถีทางในการปรับ โดยมีชิ้นส่วนที่มีการเชื่อมกันโดยไม่มีการเคลื่อนไหวตามกันระหว่างวงแหวน และกระทะอาหารเช่นเดียวกับข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรของโจทก์ข้อ 1, 2 และ 4 ทั้งกรรมวิธีการใช้ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต่างกับกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิบัตรของโจทก์ข้อ 10 และ 11 กล่าวคือ มีการให้อาหารโดยผ่านท่อลำเลียงอาหารที่สามารถปรับขึ้นและลงได้ การยกขึ้นหรือลดลงของท่อลำเลียงอาหารจะเป็นการปรับความตื้นและลึกของกระทะอาหารไปในตัว หากต้องการให้สัตว์ปีกตัวเล็กเข้ามากินอาหารได้ก็ปรับให้อยู่ในตำแหน่งตื้น แต่ถ้าต้องการให้สัตว์ปีกตัวโตเข้ามากินอาหารก็ปรับให้อยู่ในตำแหน่งลึก ทำให้สัตว์ปีกตัวโตกินอาหารได้มากขึ้น และป้องกันไม่ให้สัตว์ปีกเขี่ยอาหารในกระทะตกกระจาย ฉะนั้นโครงสร้างหลักและกรรมวิธีการใช้ ตลอดจนประโยชน์ใช้สอยของผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเช่นเดียวกับของโจทก์ แม้จะมีข้อแตกต่างกันในข้อปลีกย่อยก็ถือได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกของจำเลยที่ 1 มีขอบเขตของการประดิษฐ์เช่นเดียวกับที่ระบุในข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่ให้อาหารสัตว์ปีกเลขที่ 9634 ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและให้จำเลยที่ 3 นำเข้ามาในราชอาณาจักรจึงเป็นการร่วมกันละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกาและดินแดนไต้หวัน แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้อ้างว่าได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าวมาก่อนโจทก์ จึงไม่มีผลทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิบัตรดังกล่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ของประเทศไทยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิและได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 ที่บุคคลอื่นจะละเมิดมิได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน