แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฯ มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 46
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฯ เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่ศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมิต้องคำนึงถึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40-41/2546
แม้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฯ มาตรา 59 วรรคสอง จะบัญญัติให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่คดีนี้ถือว่าเป็นคดีแพ่ง จึงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดขอ
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ทรัพย์สินรวม 24 รายการ มูลค่า 38,229,370.01 บาท ของผู้คัดค้านทั้งสาม เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว และคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาหลักฐานตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วมีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้ร้องดำเนินการต่อไป ขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 7 พร้อมดอกผลที่เกิดมีขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49, 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า ทรัพย์สินตามคำร้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งได้มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างไต่สวน ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่ความตาย เด็กชายวัชระโดยผู้คัดค้านที่ 2 ผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ทั้ง 24 รายการ ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามประการต่อไปว่า ในการพิพากษาคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 หรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่า ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3271/2545 ให้ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 นายพัฒพงษ์และนางอนงค์ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ค.5 ศาลอาญาเคยมีคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.9358/2545 ให้ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ค.6 และศาลอาญาเคยมีคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ม.148/2545 ให้ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ค.7 คดีทั้งสามถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอาญาตามลำดับ เมื่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 บัญญัติให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับในการดำเนินการทางศาล ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาดังกล่าว นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าวมิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า “การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง” ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดดังที่ผู้คัดค้านทั้งสามกล่าวอ้างในฎีกา หรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2542 จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามที่ได้มาก่อนวันดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่ศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมิต้องคำนึงถึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40-41/2546 ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ว่าพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง จะบัญญัติให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่คดีนี้ถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้นไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ