คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4707/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

องค์การบริหารส่วนตำบลโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ครอบครองดูแลรักษาที่ดินพิพาทตามกฎหมาย จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยโต้เถียงกันจึงมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินของจำเลย หากศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายใดชนะคดีย่อมมีผลทำให้คู่ความฝ่ายนั้นได้รับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โดยถือทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์เรียกร้อง 32,240 บาท ดังนี้ ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้แม้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง นั้น จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงเพื่อการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ฎีกา โดยข้อเท็จจริงที่จะนำมาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ กล่าวคือต้องมิใช่ข้อเท็จจริงในเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น หรือไม่เกี่ยวกับที่คู่ความฝ่ายในฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ต้องนำสืบ
โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โดยอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิครอบครอง มิใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ คดีจึงไม่มีประเด็นที่คู่ความจะต้องนำสืบว่า ส. และ พ. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ ข้อเท็จจริงดังกล่าวที่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่อาจนำมาวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกามาได้ และถือว่าฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีหน้าที่ควบคุมดูแลผลประโยชน์และส่วนได้เสียของหมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ในเขตตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อประมาณปี 2527 หมู่ที่ 6 ตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้รับรางวัลหมู่บ้านดีเด่นเป็นเงิน 5,000 บาท คณะกรรมการหมู่บ้านพร้อมด้วยประชาชนในหมู่ที่ 6 ได้ประชุมร่วมกัน และเห็นชอบให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 417 หมู่ที่ 6 ตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์บางส่วนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 30 ตารางวา ในราคา 5,000 บาท จากนางเพ็ญศรีเพื่อยกให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นเดิมเป็นของนางสมจิตร หลังจากซื้อที่ดินมาแล้วคณะกรรมการหมู่บ้านและประชาชนในหมู่ที่ 6 ได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์โดยล้อมรั้วเพื่อแสดงอาณาเขตที่แน่นอนพร้อมกันปักป้ายแสดงว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อปี 2532 คณะกรรมการหมู่บ้านพร้อมด้วยประชาชนในหมู่ที่ 6 ร่วมกันขุดบ่อน้ำบาดาล สร้างศาลาสำหรับอ่านหนังสือพิมพ์ และสร้างธนาคารน้ำประจำหมู่บ้านบนที่ดินเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน จนกระทั่งปี 2534 จำเลยได้ไปดำเนินการเปลี่ยนชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 417 เป็นชื่อของตนเอง และได้ปิดกั้นไม่ให้ประชาชนในหมู่ที่ 6 เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวอีก เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายและประชาชนไม่สามารถเข้าไปใช้สอยและทำประโยชน์ในที่ดินได้ ขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 419 หมู่ที่ 6 ตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่ 1 ไร่ 30 ตารางวา ให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของที่ดินที่พิพาท การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 417 เป็นของจำเลยทั้งแปลง จำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางสมจิตร และเมื่อปี 2534 นางสมจิตรได้จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย จำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 417 หมู่ที่ 6 ตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ เฉพาะด้านทิศใต้เนื้อที่ 1 ไร่ 30 ตารางวา ตามเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 1 เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกอุทธรณ์ ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ และให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เป็นเงิน 1,600 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเป็นการชอบหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นสาธาณสมบัติของแผ่นดินดังเดิม ไม่ได้เรียกร้องให้คืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ ซึ่งตามคำขอดังกล่าวไม่ได้ทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจึงเป็นคดีที่ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ครอบครองดูแลรักษาที่ดินพิพาทตามกฎหมาย จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ที่จำเลยมีสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 417 ประเด็นพิพาทที่โจทก์และจำเลยโต้เถียงกันจึงมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินของจำเลย หากศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายใดชนะคดีย่อมมีผลทำให้คู่ความฝ่ายนั้นได้รับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีทมีทุนทรัพย์ โดยถือทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์เรียกร้อง คือ 32,240 บาท ดังนี้ ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักให้น่ารับฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อันเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่านางสมจิตรและนางเพ็ญศรีทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 417 ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน การซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 นางเพ็ญศรีจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เมื่อนางเพ็ญศรีไม่ได้สิทธิครอบครองแล้ว ก็ไม่มีสิทธินำมาขายให้แก่คณะกรรมการหมู่บ้าน หมู่ที่ 6 แม้จะขายให้เป็นสาธารณประโยชน์ก็ไม่มีผลตามกฎหมายและถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง นั้น จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงเพื่อการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกา แต่ข้อเท็จจริงที่จะนำมาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ กล่าวคือต้องมิใช่ข้อเท็จจริงในเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น หรือไม่เกี่ยวกับที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ต้องนำสืบ คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โดยอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จำเลยให้การต่อสู้แต่เพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มิใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ คดีจึงไม่มีประเด็นที่คู่ความจะต้องนำสืบว่านางสมจิตรและนางเพ็ญศรีทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ ข้อเท็จจริงดังกล่าวที่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่อาจนำมาวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกามาได้ และถือว่าฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share