แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาต่างตอบแทนคู่สัญญาอาจจะตกลงเงื่อนไข เงื่อนเวลา หรือขั้นตอนในการชำระหนี้กันอย่างไรก็ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ตกลงชำระค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์เมื่อใดจึงต้องชำระค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์ทำงานเสร็จกล่าวคือเมื่อคดีถึงที่สุด
โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงเงื่อนไขการชำระเงินค่าจ้างว่าความไว้เป็นส่วนๆ ว่าโจทก์ทำการงานถึงขั้นตอนใดๆ จำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้แก่โจทก์จำนวนเท่าใด หรือเมื่อคดีเสร็จเด็ดขาดในขั้นต้นใด จำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด อันเป็นการตกลงให้ค่าจ้างตามผลแห่งการงานที่ทำ จึงต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงจ้างว่าความกันโดยคำนึงถึงผลสำเร็จของการงานที่ทำเป็นประการสำคัญ โดยไม่คำนึงว่าการงานที่ให้ทำนั้นจะสำเร็จเมื่อใด ในขั้นตอนใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำการงานโดยดำเนินคดีให้แก่จำเลยทั้งสองจนจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับคู่กรณีได้ และศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมโดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์คดีถึงที่สุด ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ทำการงานสำเร็จตามที่ตกลงว่าจ้างกันแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 จำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความฟ้องและดำเนินคดีในคดีหมายเลขดำที่ 4223/2540 ของศาลชั้นต้น ระหว่าง นายสุรเทพที่ 1 นางพาณีที่ 2 โจทก์ บริษัทไทยซิกา กรุ๊ป จำกัด ที่ 1 กับพวก จำเลยตกลงชำระค่าจ้างเมื่อคดีถึงที่สุดเป็นจำนวนร้อยละ 10 ของทุนทรัพย์ในการฟ้องคดีเป็นเงิน 353,700 บาท ต่อมาคดีดังกล่าวถึงที่สุด โดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2541 โจทก์ได้ทวงถามค่าจ้างว่าความจากจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 406,755 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์เป็นทนายความฟ้องและดำเนินคดีให้ตามฟ้องจริง แต่มีข้อตกลงค่าทนายความชั้นดำเนินคดีเป็นเงิน 15,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับชำระครบถ้วนแล้วและตกลงค่าทนายความในชั้นบังคับคดีร้อยละ 10 ของจำนวนเงินที่ได้จากการบังคับคดี ต่อมาจำเลยในคดีดังกล่าวทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยผ่อนชำระหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสอง แต่ก็ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ยอมชำระหนี้ตามสัญญา คดีดังกล่าวจึงยังไม่ถึงที่สุด และโจทก์ก็มิได้ติดตามดำเนินการบังคับคดีโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 353,700 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง (วันที่ 28 ธันวาคม 2543) ต้องไม่เกิน 53,055 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าจ้างว่าความเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 จำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความว่าความในคดีหมายเลขดำที่ 4223/2540 หมายเลขแดงที่ 4439/2541 ของศาลชั้นต้น ระหว่างนายสุรเทพ มานะไชยรักษ์ ที่ 1 นางพาณี ที่ 2 โจทก์ บริษัทไทยซิกา กรุ๊ป จำกัด ที่ 1 นายวิรัติ ที่ 2 นายภาม ที่ 3 นางวิมาลี ที่ 4 จำเลย ซึ่งเป็นคดีที่จำเลยทั้งสองฟ้องเรียกค่าสินค้าและค่าจ้างจากบริษัทไทยซิกา กรุ๊ป จำกัด กับพวก เป็นเงิน 2,861,362.60 บาท และเงินเพิ่มระหว่างผิดนัด 575,724.51 บาท รวมเป็นเงิน 3,537,087.11 บาท โดยตกลงค่าจ้างว่าความร้อยละ 10 ของทุนทรัพย์ในการฟ้องร้องคิดเป็นเงินจำนวน 353,700 บาท ต่อมาคดีดังกล่าวโจทก์ทั้งสองได้ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาต และได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอความกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสอง (จำเลยทั้งสองคดีนี้) จำนวน 3,700,541 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน 2,961,362 บาท นับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2541 โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 150,000 บาท หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้บังคับคดีได้ทันที และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้วเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2541 คดีถึงที่สุดโดยไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอม มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์เมื่อใด เห็นว่า สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 บัญญัติว่า อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น ดังนั้นสัญญาจ้างว่าความจึงถือเอาผลสำเร็จของงานคือการดำเนินคดีหรือทำหน้าทนายความตั้งแต่ตระเตรียมคดีและว่าต่างหรือแก้ต่างในศาลไปจนคดีถึงที่สุด และการจ่ายสินจ้างตามที่ตกลงกันไว้ ทั้งนี้เพราะสัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่สัญญาต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กัน ดังนั้นคู่สัญญาอาจจะตกลงเงื่อนไข เงื่อนเวลา หรือขั้นตอนในการชำระหนี้กันอย่างไรก็ได้หากไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความแจ้งชัดว่า จำเลยทั้งสองตกลงจะชำระค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์เมื่อใด จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์ทำงานเสร็จ กล่าวคือเมื่อคดีถึงที่สุด ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง บัญญัติว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกา หรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง… เมื่อคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2541 และไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีดังกล่าวจึงถึงที่สุดวันที่ 28 มกราคม 2542 จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์ในวันที่ 28 มกราคม 2542 หาใช่นับแต่วันที่โจทก์บังคับคดีให้แก่จำเลยทั้งสองเสร็จดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์จำนวนเท่าใด เห็นว่า เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ตกลงเงื่อนไขเกี่ยวกับการชำระเงินค่าจ้างว่าความไว้เป็นส่วนๆ ว่าโจทก์ทำการงานถึงขั้นตอนใด จำเลยทั้งสองจะต้องชำระให้แก่โจทก์จำนวนเท่าใด หรือเมื่อคดีเสร็จเด็ดขาดในขั้นตอนใด จำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด อันเป็นการตกลงให้ค่าจ้างตามผลแห่งการงานที่ทำ จึงต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงจ้างว่าความกันในคดีนี้โดยคำนึงถึงผลสำเร็จของการงานที่ทำเป็นประการสำคัญ โดยไม่คำนึงว่าการงานที่ให้ทำนั้นจะสำเร็จเมื่อใด ในขั้นตอนใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำการงานโดยดำเนินคดีนี้ให้แก่จำเลยทั้งสองจนจำเลยทั้งสองทำสัญญประนีประนอมยอมความกับคู่กรณีได้ และศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คดีถึงที่สุดแล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ทำการงานให้แก่จำเลยทั้งสองสำเร็จแล้วตามที่ตกลงว่าจ้างกัน แม้คดีดังกล่าวจะเสร็จเด็ดขาดโดยศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมก็ตาม แต่ในการดำเนินการเจรจาตกลงประนีประนอมยอมความและทำสัญญาประนีประนอมยอมความก็เป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องอาศัยความรู้ความสามารถความละเอียดรอบคอบและศิลปะในการเจรจาต่อรอง ทั้งปรากฏว่าโจทก์ยังเป็นผู้ตระเตรียมคดีทำคำฟ้อง และมาศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาให้แก่จำเลยทั้งสองจนถึงวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความรวม 7 ครั้ง และบริษัทไทยซิกา กรุ๊ป จำกัด จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวยอมตกลงชำระราคาค่าสินค้าและค่าจ้างแก่จำเลยทั้งสองจำนวน 2,961,362 บาท เต็มตามจำนวนที่จำเลยทั้งสองฟ้องพร้อมเงินเพิ่มระหว่างผิดนัดจนถึงวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความอีกจำนวน 739,179 บาท อันเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองอย่างยิ่ง จึงไม่มีเหตุที่จะลดค่าจ้างว่าความให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระค่าจ้างว่าความเต็มตามสัญญาจำนวน 353,700 บาท แก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 353,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง (วันที่ 28 ธันวาคม 2543) ต้องไม่เกิน 53,055 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ