แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกันยังเป็นที่สงสัยฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดฐานร่วมกันรับของโจร จึงเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีใหม่ และจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9452/2545 ของศาลชั้นต้น ต่อมาศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9452/2545 ว่าจำเลยที่ 3 แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสามไป หรือจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อรับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งอะลูมิเนียมกลม 3 ขด ของกลางไว้จากคนร้าย โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ เหตุเกิดที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 334, 335, 336 ทวิ, 357 ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 115,754 บาท
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357, 83 (ที่ถูก มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83) จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง มีคนร้ายร่วมกันลักหลอดต่อสายไม่รับแรงดึงขนาดต่าง ๆ เป็นเงินทั้งสิ้น 127,004 บาท ของบริษัทเทด้า จำกัด ผู้เสียหายไป โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ต่อมาร้อยตำรวจโทบุญส่งเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรอำเภอพุทธมณฑลยึดลวดอะลูมิเนียม 3 ขด ราคา 11,250 บาท ของผู้เสียหายได้จากนายวิทยาผู้รับซื้อของเก่า โดยจำเลยที่ 3 ร่วมกันจำหน่ายขดลวดอะลูมิเนียม ของกลางให้นายวิทยาโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่สุดแล้ว…
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ เห็นว่า คดีเกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจทก์นั้น ข้อสำคัญโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ช่วยจำหน่าย โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด จะอาศัยเพียงพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผลัดเปลี่ยนกันไปกับนายสุรศักดิ์ในขณะที่นายสุรศักดิ์นำขดลวดอะลูมิเนียมไปจำหน่ายให้แก่นายวิทยาแล้วคาดคะเนเอาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ช่วยนายสุรศักดิ์จำหน่ายขดลวดอะลูมิเนียมของกลางโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดไม่ได้ แม้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเมื่อแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าร่วมกันลักทรัพย์ของนายจ้างโดยใช้ยานพาหนะ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่คำรับดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่า และเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่าร่วมกันรับของโจรจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์และร่วมกันรับของโจร โดยอ้างว่าที่รับสารภาพในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์เพราะเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายและขู่เข็ญว่าหากไม่รับสารภาพจะทำร้ายร่างกายอีก คำให้การรับสารภาพดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้ พยานหลักฐานของโจทก์ยังเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ช่วยจำหน่ายขดลวดอะลูมิเนียมของกลางโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
อนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกันยังเป็นที่สงสัยฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดฐานร่วมกันรับของโจร จึงเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสามความผิดฐานรับของโจรเสียด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7