คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5048/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอีกหนึ่งในสาม และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่” บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า เมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้ใดตามกฎหมายมาตรานี้แล้ว ให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ด้วย อันเป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง แล้ว ย่อมต้องมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยซึ่งได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ประจำรถโดยเป็นผู้ขับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ หมายเลขทะเบียน 70 – 1819 นครราชสีมา ตัวพ่วง 70 – 1820 นครราชสีมา และได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถยนต์ชนิดที่ 3 ในขณะจำเลยปฏิบัติหน้าที่ขับรถบรรทุกคันดังกล่าวไปตามถนนสืบศิริ ตำบลธงชัยเหนือ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคสอง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เนื่องจากความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ ซึ่งเป็นบทหนักที่อัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ประกอบตามพระราชบัญญัติยาเสพติดฯ ให้โทษเพียงบทเดียว จำคุก 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน ให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สมควรรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยหลังเกิดเหตุเป็นเวลานานกว่า 5 ปี โดยไม่ปรากฏว่าในระหว่างนั้นจำเลยได้กระทำความผิดใดๆ อีก น่าเชื่อว่าจำเลยมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน น่าจะอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขฟื้นฟูให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ การให้โอกาสจำเลยโดยรอการลงโทษจำคุกไว้สักครั้งหนึ่ง น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมโดยรวมมากกว่าที่จะจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษแต่ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตนเองของจำเลย สมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ไม่พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอีกหนึ่งในสาม และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่” บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า เมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้ใดตามกฎหมายมาตรานี้แล้วให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ด้วย อันเป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง แล้ว ย่อมต้องมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โทษปรับทั้งกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ต่างเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด กล่าวคือโทษขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณกว่า ส่วนโทษขั้นต่ำตามกฎหมายเดิมเป็นคุณกว่า แล้วแต่จะดูในแง่ขั้นสูงหรือขั้นต่ำของโทษ โทษปรับที่จะลงโทษแก่จำเลยจึงอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำความผิดหรือใช้กฎหมายใหม่ก็ได้ กรณีโทษปรับจึงให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 (เดิมและที่แก้ไขใหม่) โดยปรับ 30,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด และให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share