คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4866/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ยอมรับค่าเช่าซื้อไว้โดยไม่ทักท้วง แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวไปยังผู้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แม้จำเลยจะผิดนัดชำระค่าเช่าซื้ออีก เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควร โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเลิกสัญญากับจำเลยเพราะเหตุผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ดังนี้ การที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน แต่หลังจากนั้นจำเลยได้ไปติดต่อขอชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยค่าปรับรวมค่าใช้จ่ายให้โจทก์ แล้วโจทก์คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้จำเลยนำไปใช้ต่อ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ยอมผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยโดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที โจทก์และจำเลยยังคงประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันกันต่อไป สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันเพราะเหตุที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน โจทก์และจำเลยยังคงบังคับกันตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ท – 9667 สงขลา ไปจากโจทก์ในราคา 425,424 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้องวดละ 8,863 บาท รวม 48 งวด โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมสัญญาเช่าซื้อทำที่บริษัทโจทก์ จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียงงวดที่ 31 โดยชำระบางส่วน หลังจากนั้นไม่ชำระอีกรวมเป็นเงินที่ชำระแล้วทั้งสิ้น 273,101 บาท โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่คืนรถยนต์ให้โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการที่จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองใช้รถยนต์ของโจทก์ในอัตราเดือนละ 6,000 บาท นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 6 เดือน เป็นเงิน 36,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 152,323 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาเสร็จ และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เป็นเงิน 36,000 บาท กับค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 6,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า สัญญาเช่าซื้อทำที่สำนักงานสาขาของโจทก์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มูลคดีนี้จึงมิได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดแต่โจทก์ยอมรับไว้โดยมิได้ถือเอาระยะเวลาการชำระหนี้ตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ โจทก์ติดตามรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2541 ซึ่งถือได้ว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว การที่รถยนต์มาอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 อีกครั้ง โดยโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อต่อไปเป็นการเช่าซื้อโดยมิได้ทำสัญญาต่อกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หลังจากโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้ตามระยะเวลาที่โจทก์กำหนดและโจทก์ยอมรับไว้โดยมิไม่อิดเอื้อนจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากจำเลยทั้งสาม โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกให้เช่าในอัตราเดือนละ 6,000 บาท ได้ทุกเดือนเป็นเวลา 6 เดือน รถยนต์ที่เช่าซื้อมีราคาเงินสดในวันทำสัญญา 280,000 บาท โดยโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี จำนวนเงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 1 จึงคุ้มกับราคารถยนต์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ราคารถยนต์อีก จำเลยทั้งสามไม่เคยตกลงยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 100,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2539 จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 1 ท – 9667 สงขลา ไปจากโจทก์ในราคา 425,424 บาท ตกลงชำระงวดละ 8,863 บาท รวม 48 งวด โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาโจทก์รับชำระค่าเช่าซื้อไว้โดยไม่ทักท้วง ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีก โจทก์จึงให้พนักงานไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระรวมดอกเบี้ยค่าปรับและค่าใช้จ่ายต่างๆ แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 66,252 บาท แล้วรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไปจากโจทก์ โดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกันใหม่ และชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ต่อมาอีก และต่อมาโจทก์ก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อยังมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยทั้งสามนำสืบรับกันว่า หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ยอมรับค่าเช่าซื้อไว้โดยไม่ทักท้วงแสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ หากโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อประสงค์จะเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวไปยังผู้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 แม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดชำระค่าเช่าซื้ออีก เมื่อโจทก์มิได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควร โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 เพราะเหตุผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ดังนี้ การที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเมื่อเดือนมิถุนายน 2541 แต่หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ไปติดต่อขอชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยค่าปรับรวมค่าใช้จ่ายให้โจทก์ แล้วโจทก์คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 นำไปใช้ต่อ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ยอมผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที และโจทก์จำเลยที่ 1 ยังคงประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันกันต่อไป สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันเพราะเหตุที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน โจทก์จำเลยที่ 1 ยังคงบังคับกันตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า หลักจากจำเลยที่ 1 รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาใช้แล้วได้ชำระค่าเช่าซื้อต่อมาจนถึงงวดที่ 31 แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 32 ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2542 ถึงงวดประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2542 และโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อ และบอกเลิกสัญญาให้จำเลยทั้งสามทราบโดยชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระไม่ครบตามจำนวนหนี้ที่ค้างชำระสัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2542 การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 100,000 บาท และกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ก่อนฟ้องเป็นเวลา 6 เดือน กับหลังฟ้องเป็นเวลาไม่เกิน 10 เดือน เดือนละ 3,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2542 เป็นเงิน 32,000 บาท และภายหลังฟ้องอีก 25,000 บาท จึงให้นำมาหักทอนออกจากหนี้ค่าขาดประโยชน์ที่กำหนดให้จนหมด คงให้จำเลยทั้งสามส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 100,000 บาท จำเลยทั้งสามไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหรือไม่ และค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์รวมทั้งราคารถยนต์ใช้แทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น เมื่อฟังได้ว่าสัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่อไป และต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหลายงวดโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share