คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5474/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ป่วยเป็นไข้ มีอาการวิงเวียนศีรษะ ส่วนที่จำเลยที่ 2 แจ้งว่าป่วยเป็นไข้หวัดนั้น โดยไม่มีใบรับรองแพทย์มายืนยันว่าป่วยถึงขนาดไม่สามารถมาศาลได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวประกอบกับการขอเลื่อนคดีหลายครั้งเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่สั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนคดีก่อนเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้ว และคำร้องขอเลื่อนคดีดังกล่าวปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ออกไปซื้อยามารับประทานแล้วนอนพักผ่อน แสดงว่าอาการเจ็บป่วยของทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 2 และตัวจำเลยที่ 2 เป็นการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และไม่มีความจำเป็นต้องตั้งเจ้าพนักงานหรือแพทย์ไปตรวจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 และมาตรา 41
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของโจทก์ไม่ถูกต้องเพราะความจริงแล้ว อ. ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการในนามโจทก์ อีกทั้งหนังสือรับรองดังกล่าวไม่ได้ออกโดยกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ อ. จึงไม่มีอำนาจกระทำการในนามโจทก์เท่ากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อสู้แต่เพียงว่า อ. ไม่ได้เป็นกรรมการของโจทก์ และหนังสือดังกล่าวไม่ได้ออกโดยกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า เอกสารดังกล่าวไม่มีต้นฉบับ หรือว่าต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วนหรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับอย่างหนึ่งอย่างใดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้คัดค้านเอกสารดังกล่าวไว้แล้ว ประกอบกับขณะที่โจทก์นำสืบเอกสารดังกล่าว พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมหาชน มี อ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนตามหนังสือรับรองพร้อมสำเนาหมาย จ.13 แสดงว่าโจทก์ได้นำเอาต้นฉบับเอกสารมาแสดงให้ศาลชั้นต้นดูด้วย แล้วขอส่งสำเนาเอกสารไว้แทนก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งคัดค้าน ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับของเอกสารนั้น รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับ ศาลชั้นต้นย่อมรับฟังสำเนาหนังสือรับรองดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (1) และมาตรา 125 ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของโจทก์ระบุว่า กรรมการคนใดคนหนึ่งของบริษัทโจทก์มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทโจทก์และผูกพันบริษัทโจทก์ได้ อ. เป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทโจทก์ จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจแทนบริษัทโจทก์ได้ ไม่จำต้องประทับตราของบริษัทโจทก์ ส่วนการระบุฐานะของผู้มอบอำนาจนั้นไม่มีกฎหมายข้อใดบังคับว่าการลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจต้องระบุฐานะของผู้มอบอำนาจด้วย ดังนั้น หนังสือมอบอำนาจจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ก่อนฟ้องคดีโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองส่งถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจ่าหน้าซองตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในฟ้องปรากฏว่าส่งไม่ได้ พนักงานไปรษณีย์ได้ระบุข้อขัดข้องไว้ที่หน้าซองจดหมายว่าไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า และได้ออกใบแจ้งความให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปรับจดหมาย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ แสดงว่าพนักงานไปรษณีย์พบบ้านอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ส่งจดหมายไม่ได้เพราะไม่มีบุคคลใดลงชื่อรับจดหมาย โจทก์จึงได้ประกาศบอกกล่าวบังคับจำนองทางหนังสือพิมพ์ ถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งคำบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 แล้ว
สัญญาขายลดตั๋วเงิน ข้อ 2 ที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อตั๋วเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลด และโจทก์เรียกเก็บเงินตามตั๋วเงินนั้นไม่ได้เมื่อถึงวันกำหนดใช้เงินนั้น เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในรูปของดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นจากอัตราส่วนลดเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ในกรณีลูกหนี้ผิดนัด ดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นนี้จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้ยึดทรัพย์ที่จำนองทั้ง 3 รายการมาชำระหนี้โจทก์โดยคิดดอกเบี้ยหนี้จำนองในวันก่อนทำสัญญาและวันทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์นั้นไม่ถูกต้อง เพราะดอกเบี้ยหนี้จำนองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อธนาคารตามเช็คแต่ละฉบับปฏิเสธการจ่ายเงิน เช่นเดียวกับหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คซึ่งเป็นหนี้ประธาน
เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยลดลงผู้ค้ำประกันและผู้จำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมจะต้องรับผิดลดลงด้วยในฐานะลูกหนี้ร่วมและเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งมิได้ยื่นฎีกาขึ้นมาด้วยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 4,067,886.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,461,516 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 และที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,461,516 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารตามเช็คแต่ละฉบับปฏิเสธการจ่ายเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 606,370.12 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้ยึดเครื่องจักรของจำเลยที่ 1 มาชำระในวงเงิน 2,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไป กับให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 99123, 99124 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาดบังคับจำนองในวงเงิน 3,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไป กับให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 99125, 99126 พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดในวงเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 4,067,886.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 3,461,516 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอเลื่อนคดีหลายครั้ง ในวันนัดสืบพยานจำเลยครั้งแรกวันที่ 29 มีนาคม 2542 ศาลชั้นต้นกำชับให้จำเลยเตรียมพยานมาศาลให้พร้อม นัดหน้าศาลจะไม่ให้เลื่อนคดีอีก ปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัดวันที่ 20 เมษายน 2542 ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอเลื่อนคดีโดยอ้างลอยๆ ว่า จำเลยที่ 2 ไปส่งสินค้าต่างจังหวัดไม่สามารถมาเบิกความได้ ซึ่งไม่มีเหตุผลสมควร แต่ศาลชั้นต้นก็ยังยินยอมอนุญาตให้เลื่อนคดีได้ นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มากอยู่แล้ว โดยศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เลื่อนคดีมาอีกถึง 2 เดือน และทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 แถลงว่า หากนัดหน้าจำเลยที่ 2 ไม่มาถือว่าไม่ติดใจสืบพยาน ปรากฏว่าเมื่อถึงนัดหน้าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 และตัวจำเลยที่ 2 ก็ไม่มาศาลอีกโดยทนายความอ้างลอยๆ เช่นเดิมอีกว่า จำเลยที่ 2 ป่วยเป็นไขหวัด ส่วนทนายความเป็นไข้ไม่สามารถมาศาลได้ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 และทนายความไม่มีใบรับรองแพทย์มายืนยันให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 2 ป่วยเจ็บถึงขนาดไม่สามารถมาศาลได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่สั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนคดีก่อนเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าศาลชั้นต้นต้องวินิจฉัยก่อนหรือไม่ว่า จำเลยที่ 2 และทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ป่วยจริงหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2542 ปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ป่วยเป็นไข้ มีอาการวิงเวียนศีรษะ ส่วนจำเลยที่ 2 แจ้งว่าป่วยเป็นไข้หวัดเท่านั้น โดยไม่มีใบรับรองแพทย์มายืนยันว่าป่วยถึงขนาดไม่สามารถมาศาลได้ ประกอบกับตามคำร้องขอเลื่อนคดีดังกล่าวปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ออกไปซื้อยามารับประทานแล้วนอนพักผ่อน แสดงว่าอาการเจ็บป่วยของทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 2 และตัวจำเลยที่ 2 เป็นการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และไม่มีความจำเป็นต้องตั้งเจ้าพนักงานหรือแพทย์ไปตรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 และมาตรา 41 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อต่อไปว่าศาลชั้นต้นรับฟังสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.13 เป็นพยานหลักฐานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นคำให้การโต้แย้งคัดค้านไว้ชัดแจ้งแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้โต้แย้งคัดค้านการนำสำเนาเอกสารหมาย จ.13 มาสืบ เห็นว่า เอกสารหมาย จ.13 เป็นสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของโจทก์ ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า หนังสือรับรองตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ไม่ถูกต้องเพราะความจริงแล้วนายอมรไม่ได้เป็นกรรมการของโจทก์ และไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการในนามโจทก์ อีกทั้งหนังสือรับรองดังกล่าวไม่ได้ออกโดยกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ นายอมรจึงไม่มีอำนาจกระทำการในนามโจทก์ เท่ากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อสู้แต่เพียงว่านายอมรไม่ได้เป็นกรรมการของโจทก์ และหนังสือดังกล่าวไม่ได้ออกโดยกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า เอกสารดังกล่าวไม่มีต้นฉบับ หรือว่าต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วนหรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ใปประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้คัดค้านเอกสารดังกล่าวไว้แล้ว ประกอบกับขณะที่โจทก์นำสืบเอกสารดังกล่าวนางพัชนีรัตน์พยานโจทก์เบิกความว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมหาชน มีนายอมรเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ตามหนังสือรับรองพร้อมสำเนาหมาย จ.13 แสดงว่าโจทก์ได้นำเอาต้นฉบับเอกสารมาแสดงให้ศาลชั้นต้นดูด้วย แล้วขอส่งสำเนาเอกสารคือเอกสารหมาย จ.13 ไว้แทนก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งคัดค้านถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับของเอกสารนั้น รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับ ศาลชั้นต้นย่อมรับฟังเอกสารหมาย จ.13 เป็นพยานหลักฐานได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (1) และมาตรา 125 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อต่อไปว่า หนังสือมอบอำนาจชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจให้นายชนินทร์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีการระบุฐานะของผู้มอบอำนาจและไม่ประทับตราสำคัญของโจทก์ เห็นว่า ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.13 ระบุว่า กรรมการคนใดคนหนึ่งของบริษัทโจทก์มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทโจทก์และผูกพันบริษัทโจทก์ได้ นายอมรเป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทโจทก์ จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจแทนบริษัทโจทก์ได้ ไม่จำต้องประทับตราของบริษัทโจทก์ ส่วนการระบุฐานะของผู้มอบอำนาจนั้นไม่มีกฎหมายข้อใดบังคับว่าการลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจต้องระบุฐานะของผู้มอบอำนาจด้วย ดังนั้น หนังสือมอบอำนาจจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อต่อไปว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่ เห็นว่า ก่อนฟ้องคดีโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองส่งถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับจ่าหน้าซองตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในฟ้อง ปรากฏว่าส่งไม่ได้ พนักงานไปรษณีย์ได้ระบุข้อขัดข้องไว้ที่หน้าซองจดหมายว่า ไม่มีผู้รับตามจ่าหน้า และได้ออกใบแจ้งความให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปรับจดหมาย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ แสดงว่าพนักงานไปรษณีย์พบบ้านอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่ส่งจดหมายไม่ได้เพราะไม่มีบุคคลใดลงชื่อรับจดหมาย โจทก์จึงได้ประกาศบอกกล่าวบังคับจำนองทางหนังสือพิมพ์สายกลาง หลักจากนั้นอีก 1 เดือนเศษโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ เจ้าพนักงานศาลได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังภูมิลำเนาเช่นเดิม ปรากฏว่าส่งได้โดยวิธีปิดหมายและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับว่าได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จริงโดยวิธีปิดหมาย การที่โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทางไปรษณีย์ ณ ภูมิลำเนาที่แท้จริงของจำเลย แต่ไม่มีบุคคลใดยอมรับ โจทก์จึงใช้วิธีประกาศคำบอกกล่าวบังคับจำนองให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบทางหนังสือพิมพ์ถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งคำบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาจำนองกับโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า นางพัชนีรัตน์ไม่ใช่ประจักษ์พยานในการทำสัญญาและไม่เกี่ยวข้องกับสัญญา คำเบิกความของนางพัชนีรัตน์จึงรับฟังไม่ได้ เห็นว่า ในการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเรื่องนี้ ศาลต้องวินิจฉัยชั่งน้ำหนักจากพยานหลักฐานทั้งหมด มิใช่ดูแต่คำเบิกความของนางพัชนีรัตน์อย่างเดียว นางพัชนีรัตน์มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยสินเชื่อของธนาคารโจทก์ สาขาบางซื่อ แม้จะไม่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง แต่นางพัชนีรัตน์ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า เป็นผู้ดูแลลูกหนี้รายนี้ หมายถึง ดูแลหนี้สินที่จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 มาขอวงเงินขายลดตั๋วเงินกับโจทก์ และนำตั๋วเงินมาขายลดหลายครั้ง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองเครื่องจักรต่อโจทก์ โดยนางพัชนีรัตน์เบิกความเป็นพยานโจทก์และมีเอกสารมาแสดง แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นำสืบต่อสู้คดีแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
อนึ่ง ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินข้อ 2 ที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อตั๋วเงินที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลด และโจทก์เรียกเก็บเงินตามตั๋วเงินนั้นไม่ได้ เมื่อถึงวันกำหนดใช้เงินนั้น เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในรูปของดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นจากอัตราส่วนลดเดิมที่กำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ในกรณีลูกหนี้ผิดนัด ดอกเบี้ยที่คิดเพิ่มขึ้นนี้จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ศาลฎีกาเห็นสมควรลดดอกเบี้ยในส่วนที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดลงเหลืออัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี นอกจากนี้ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่กำหนดให้ยึดทรัพย์ที่จำนองทั้ง 3 รายการ มาชำระหนี้โจทก์โดยคิดดอกเบี้ยหนี้จำนอง นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2538 วันที่ 28 ธันวาคม 2538 และวันที่ 28 ตุลาคม 2538 นั้นไม่ถูกต้อง เพราะในวันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์และก่อนทำสัญญาขายลดเช็คกับโจทก์ ดอกเบี้ยหนี้จำนองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อธนาคารตามเช็คแต่ละฉบับปฏิเสธการจ่ายเงิน เช่นเดียวกับหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คซึ่งเป็นหนี้ประธานจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยลดลง ผู้ค้ำประกันและผู้จำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมจะต้องรับผิดลดลงด้วยในฐานะลูกหนี้ร่วมและเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งมิได้ยื่นฎีกาขึ้นมาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,461,516 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี จากต้นเงินตามเช็คแต่ละฉบับนับแต่วันที่ธนาคารตามเช็คแต่ละฉบับปฏิเสธการจ่ายเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540) ต้องไม่เกิน 606,370.12 บาท ตามที่โจทก์ขอ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์ที่จำนองของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หนี้จำนองให้เป็นไปตามหนี้ประธานโดยคิดดอกเบี้ยหนี้จำนองได้นับแต่วันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับ ส่วนดอกเบี้ยเป็นไปตามสัญญาจำนอง แต่อัตราดอกเบี้ยของหนี้จำนองและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share