แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้ชี้เบาะแสและให้ข้อมูลต่อพนักงานสอบสวนว่าซื้อของกลางมาจาก ห. จนทำให้เจ้าพนักงานตำรวจขยายผลเพื่อจับกุม ห. แต่เป็นการตอบคำถามของพนักงานสอบสวนที่ถามว่าซื้อมาจากที่ใดเท่านั้น โดยจำเลยที่ 1 มิได้ให้รายละเอียดถึงสถานที่อยู่ว่าอยู่ที่ใดอันจะทำให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถขยายผลเพื่อทำการจับกุมตัว ห. ได้ ทั้งตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่ามีการขยายผลตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง จึงไม่มีเหตุจะลงโทษจำเลยที่ 1 ให้น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกคนละตลอดชีวิต และปรับคนละ 4,800,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 2,400,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และปรับ 3,200,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับโทษปรับนั้น ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 1,200,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งและหนึ่งในสามตามลำดับแล้ว คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 600,000 บาท และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 800,000 บาท คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0-6201-4559 ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสองและยึดได้เมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 1,400 เม็ด น้ำหนัก 130.09 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 24.98 กรัม โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อซีเมนส์ หมายเลข 0-6209-1265 และยี่ห้อโนเกีย หมายเลข 0-6201-4559 เป็นของกลาง คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกไชยกฤษณ์และสิบตำรวจเอกสมทิตย์พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความยืนยันตรงกันว่า ขณะจับกุมจำเลยที่ 1 นั้น ยึดเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ได้เพียง 600 เม็ด และจำเลยที่ 1 เป็นผู้บอกเองว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอีก 700 – 800 เม็ด ที่ห้อง 309 ของโรงแรมไมเคิลอินน์โดยให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่รักของจำเลยที่ 1 เผ้าไว้ และพาไปที่ห้องดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ใช้กุญแจไขเข้าไปก็พบจำเลยที่ 2 นอนดูโทรศัพน์อยู่บนเตียง ที่หัวเตียงมีถุงพลาสติกภายในมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 800 เม็ด เมื่อแจ้งข้อหาว่ามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองก็ให้การรับสารภาพจึงได้ทำบันทึกการจับกุมไว้ ซึ่งในบันทึกการจับกุมมีรายละเอียดที่จำเลยทั้งสองรับว่ารับเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากเอเย่นต์ที่จังหวัดนครสวรรค์ในราคาถุงละ 6,000 บาท เพื่อนำไปจำหน่ายในราคาถุงละ 8,000 บาท และตามบันทึกการจับกุมดังกล่าวก่อนให้จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อก็มีความข้อความบันทึกว่า “ได้อ่านบันทึกให้ผู้ต้องหาฟังแล้วรับว่าถูกต้องจึงให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ” และจำเลยทั้งสองก็มิได้โต้เถียงว่าลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมโดยมิได้สมัครใจหรือถูกบังคับขู่เข็ญทำร้ายหรือหลอกลวงแต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมด้วยความสมัครใจและข้อความในบันทึกการจับกุมตรงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จำเลยทั้งสองเป็นคนบ้านเดียวกันแม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ามิได้เป็นสามีภริยากันแต่การที่มาพักโรงแรมในห้องเดียวกัน พฤติการณ์ที่ปฏิบัติต่อกันดังกล่าวแสดงว่ามีความสัมพันธ์ในลักษณะเป็นสามีภริยากันตรงตามกับที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยทั้งสองให้การรับว่าเป็นคู่รักกัน ทั้งในชั้นฎีกาจำเลยที่ 2 ก็ฎีการับว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างชู้สาว พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองร่วมเดินทางมาด้วยกันก็เพื่อนำเมทแอมเฟตามีนมาจำหน่าย ไม่ใช่เพียงบังเอิญมาพบกันแล้วจำเลยที่ 1 ชวนไปเที่ยวทะเลที่พัทยาอย่างที่จำเลยที่ 2 อ้าง เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ไม่ควรที่จะพักห้องเดียวกัน การที่พักอยู่ห้องเดียวกันและลักษณะของการวางถุงที่ภายในมีเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่ถึง 800 เม็ด บนหัวเตียงที่จำเลยที่ 2 นอนอยู่ แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันและร่วมเดินทางมาด้วยจุดประสงค์ดังกล่าวข้างต้น โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อกับผู้ซื้อและเป็นผู้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีน ส่วนจำเลยที่ 2 เฝ้าดูแลเมทแอมเฟตามีนส่วนที่เหลืออยู่ในห้องพักของโรงแรมและจะไม่เปิดห้องพักรับผู้อื่นยกเว้นจำเลยที่ 1 ซึ่งจะต้องไขกุญแจห้องพักด้วยตนเองดังที่ปรากฏตามที่โจทก์สืบ ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 ก็มิได้อ้างว่ามิได้เป็นผู้ไขกุญแจเปิดห้องพักเข้าไปที่จำเลยที่ 2 นำสืบอ้างว่าที่เปิดประตูห้องพักเพราะมีเสียงคนมาเคาะประตู จึงมีน้ำหนักน้อยในการรับฟัง ทั้งเมื่อพิจารณาถึงพยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองดังกล่าวไม่รู้จักจำเลยทั้งสองและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน เหตุที่จับกุมจำเลยทั้งสองก็เนื่องมาจากได้รับแจ้งจากสายลับแล้วจึงวางแผนล่อซื้อเพื่อจับกุมจนจับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนบางส่วนจำนวน 600 เม็ด และเหตุที่ไปจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ที่ห้องพักในโรงแรมพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนอีก 800 เม็ด ก็เพราะจำเลยที่ 1 เป็นผู้บอกและพาไป ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่โจทก์นำสืบว่าเมทแอมเฟตามีนจำนวน 800 เม็ด อยู่ในถุงพลาสติกบนหัวเตียงโดยไม่ได้ปิดปากถุงไว้เป็นเรื่องผิดวิสัย ทั้งยังแตกต่างกับที่จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนตามคำให้การว่าเก็บเมทแอมเฟตามีนจำนวน 800 เม็ด ไว้ในกางเกงในเพิ่งเอาออกมาวางไว้บนหัวเตียง เมื่อเข้าไปในห้องกับเจ้าพนักงานตำรวจเพราะเกรงจะมีความผิดเพิ่มขึ้นนั้นเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะให้การเช่นนั้นจริงในชั้นสอบสวนและเมื่อจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยาน จำเลยที่ 1 ก็ยังยืนยันเช่นนี้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่าขณะอยู่ในห้องพัก 309 จำเลยที่ 1 จะเก็บเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดไว้ที่มุมห้องโดยใช้ผ้าปิดไว้ และเมื่อออกจากห้องพัก จะเอาเมทแอมเฟตามีนไปทั้งหมดซึ่งหากเป็นอย่างที่จำเลยที่ 1 อ้าง การเก็บซ่อนในห้องพักดังกล่าวก็มิได้ทำอย่างมิดชิดแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ย่อมรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เก็บซ่อนอะไรไว้ ทั้งจำเลยที่ 2 ก็อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานยอมรับว่า ก่อนจำเลยที่ 1 ออกไป จำเลยที่ 1 ได้รับโทรศัพท์แล้วบอกให้จำเลยที่ 2 อยู่ในห้องพัก ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ต้องเอาเมทแอมเฟตามีนที่เก็บไว้ในห้องพักไปด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมจะต้องรู้เห็นเพราะอยู่ด้วยกันตลอดเวลาและในลักษณะสองต่อสอง ทั้งการที่จำเลยที่ 2 รออยู่ในห้องพักจนจำเลยที่ 1 กลับมาพร้อมเจ้าพนักงานตำรวจ แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนมาเพื่อจำหน่าย เมื่อจำหน่ายได้แล้วจึงจะกลับบ้านด้วยกัน จำเลยที่ 2 จึงยังรอจำเลยที่ 1 อยู่ ดังนั้น ข้อแตกต่างตามที่จำเลยที่ 2 อ้าง จึงไม่ใช้ข้อแตกต่างในสาระสำคัญแต่อย่างใด เพราะแม้จะเป็นดังที่จำเลยที่ 1 อ้างในชั้นสอบสวนแต่เจ้าพนักงานตำรวจก็พบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 800 เม็ด บนหัวเตียงในห้องพักตรงกับที่โจทก์นำสืบ พยานโจทก์ที่นำสืบมา ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ลดโทษให้จำเลยที่ 1 โดยอ้างว่า เป็นการลงโทษในอัตราขั้นต่ำของกฎหมายแล้วนั้นไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 1 ได้ชี้เบาะแสและให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าได้ซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1,400 เม็ด ของกลางมาจากนายหน่อยไม่ทราบชื่อจริงและนามสกุลตามคำให้การชั้นสอบสวน ทำให้เจ้าพนักงานตำรวจขยายผลเพื่อจับกุมนายหน่อยเป็นการให้ข้อมูลสำคัญต่อเจ้าพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 น่าจะลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของกฎหมายได้นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะให้การต่อพนักงานสอบสวนตามที่อ้าง แต่เป็นการตอบคำถามของพนักงานสอบสวนที่ถามว่าซื้อมาจากที่ใดเท่านั้น โดยจำเลยที่ 1 มิได้ให้รายละเอียดถึงสถานที่อยู่ว่าอยู่ที่ใดอันจะทำให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถขยายผลเพื่อทำการจับกุมตัวนายหน่อยได้ทั้งตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่ามีการขยายผลตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง จึงไม่มีเหตุจะลงโทษจำเลยที่ 1 ให้น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของกฎหมายตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยในส่วนนี้มาชอบแล้ว และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 ควรให้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งกำหนดโทษความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัมขึ้นไป (ที่ถูกไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่ามาตรา 66 วรรคสาม ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขใหม่ ซึ่งกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาทหรือประหารชีวิต หากมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ภายหลังที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ใช้บังคับ (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545) แล้ว จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน