คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3550/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สามีมีอำนาจจัดการและจำหน่ายที่ดินอันเป็นสินบริคณห์ส่วนของภริยาได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468,1473(เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
สิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่งยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมก่อนถึงกำหนดนั้น เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม มาตรา 1754 วรรคสาม

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายซ้ำมีอำนาจเอาที่พิพาทส่วนของจำเลยที่ 1 ไปตกลงขายให้โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ที่พิพาทเป็นสินบริคณห์ระหว่างนายซ้ำกับจำเลยที่ 1 นายซ้ำซึ่งเป็นสามีจึงมีอำนาจจัดการและจำหน่ายที่พิพาทส่วนของจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468 และ 1473 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ปัญหาข้อต่อไปมีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการที่นายซ้ำทำบันทึกยอมขายที่พิพาทคืนให้โจทก์ นายซ้ำมีหน้าที่ต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ และมีสิทธิได้รับราคาที่พิพาทเป็นการตอบแทน เมื่อนายซ้ำถึงแก่กรรม สิทธิและหน้าที่ตามบันทึกดังกล่าวจึงตกเป็นกองมรดกของนายซ้ำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 แม้ตามบันทึกจะกำหนดให้โจทก์ซื้อที่พิพาทคืนภายในเดือนพฤษภาคม 2520 และโจทก์ทราบว่านายซ้ำถึงแก่กรรมเมื่อเดือนมิถุนายน 2518 ซึ่งยังไม่ถึงเวลาที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อซื้อที่พิพาทคืน โจทก์ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้ถึงความตายของนายซ้ำ ตามมาตรา 1754 วรรคสามปรากฏว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2521 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ”

พิพากษายืน

Share