แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนสังหาริมทรัพย์ฯได้กำหนดบุคคลผู้ที่จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากการดำเนินการเพื่อการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไว้ในมาตรา 18(1) ถึง (6) แยกไว้ต่างหากจากกัน การดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์รายการเดียวก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลหลายฝ่าย อันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิแก่บุคคลหลายคนที่จะได้รับเงินค่าทดแทนแยกต่างหากจากกันได้
โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินก่อสร้างตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างมีกำหนด 30 ปี เพื่อนำไปให้บุคคลภายนอกเช่าช่วงภายในกำหนดระยะเวลาที่เช่า และโจทก์มีหน้าที่บำรุงรักษาตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเพื่อส่งมอบให้แก่เจ้าของที่ดินเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้วขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่เวนคืนฯมีผลใช้บังคับโจทก์คงเป็นเจ้าของตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง จึงจัดเป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตาม มาตรา 18(2)
แม้ในขณะที่มีการดำเนินการเพื่อเวนคืนตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องยังไม่ได้ตกเป็นของเจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินจึงไม่ใช่บุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตาม มาตรา 18(1) ถึง (6) ก็ตาม แต่เมื่อครบกำนด 30 ปี ตามสัญญาเช่าที่ดินตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องจะตกเป็นของเจ้าของที่ดินทันที จึงถือได้ว่าเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าหนี้โจทก์ในหนี้ที่โจทก์จะต้องส่งมอบตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้แก่เจ้าของที่ดิน เมื่อตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องถูกเวนคืนไปเสียก่อนที่จะตกเป็นกรรมสิทธิของเจ้าของที่ดินอันเป็นผลให้ได้เงินค่าทดแทนมาจากการเวนคืนเงินค่าทดแทนนี้จึงเป็นทรัพย์สินซึ่งเข้าแทนที่ตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกับตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรคสอง และ 228 วรรคหนึ่งจำเลยซึ่งมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนจึงต้องแจ้งการกำหนดเงินค่าทดแทนและการที่จะใช้เงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินทราบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 231 เมื่อเจ้าของที่ดินไม่สามารถจะตกลงกับโจทก์ได้ โจทก์และเจ้าของที่ดินต่างฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้นำเงินจำนวนนั้นไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์อันร่วมกัน เว้นแต่โจทก์จะหาประกันให้ไว้ตามสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 232 ดังนั้น ที่ฝ่ายจำเลยให้โจทก์กับเจ้าของที่ดินตกลงเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนกันให้ได้แล้วจึงมีสิทธิที่จะตกลงทำสัญญารับเงินทดแทนจากฝ่ายจำเลยได้นั้นเป็นการดำเนินที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อโจทก์กับเจ้าของที่ดินตกลงกันไม่ได้จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่อาจจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนรายใดได้เพราะมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิอื่น ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน ฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนจึงวางเงินค่าทดแทนได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 28 วรรคสอง กรณีเช่นนี้ศาลไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนทั้งหมดไปเพียงผู้เดียว
ผู้เช่าช่วงซึ่งเป็นผู้เช่าตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ จัดเป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18(3) และเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนอันมีสิทธิได้เงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายนั้นตามมาตรา 21 วรรคท้าย สิทธิของผู้เช่าตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแยกต่างหากจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวและสิ่งปลูกสร้าง และแยกต่างหากจากเจ้าของที่ดิน ดังนั้นที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนเบื้องต้นให้แก่ผู้เช่าช่วงรวมกันกับโจทก์และเจ้าของที่ดินเป็นเงินจำนวนหนึ่งในลักษณะกรรมสิทธิ์รวม และนำเงินค่าทดแทนเบื้องต้นดังกล่าวไปฝากไว้ต่อธนาคารออมสินในนามของโจทก์กับเจ้าของที่ดินและผู้เช่าช่วงรวมกันจึงไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างแต่เพียงผู้เดียวและให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 207,999,659.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 171,546,111 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนแต่ผู้เดียว จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยให้โจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 1075 ตำบลประแจจีน อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานครจากนายชลอและนางแฉล้ม จามรมาน เพื่อก่อสร้างตึกแถวและโรงภาพยนตร์ตลอดจนสิ่งก่อสร้างประการอื่น ๆ มีกำหนดสัญญาการเช่า 30 ปี และโจทก์ได้ก่อสร้างตึกแถวและโรงภาพยนตร์ตลอดจนสิ่งก่อสร้างประการอื่น ๆ เสร็จแล้วให้บุคคลภายนอกเช่าช่วงภายในกำหนดระยะเวลาที่โจทก์เช่าจากนายชลอและนางแฉล้ม และโจทก์มีหน้าที่บำรุงรักษาตึกแถวและโรงภาพยนตร์ตลอดจนสิ่งก่อสร้างประการอื่น ๆ ให้คงสภาพใช้การได้ดีรวมทั้งสิ่งต่าง ๆ ที่จัดเข้าไว้ในโรงภาพยนตร์ไม่ว่าโจทก์หรือผู้เช่าช่วงจัดเข้าไว้เพื่อส่งมอบให้แก่นายชลอและนางแฉล้มเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาการเช่ามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิต พ.ศ. 2534 กำหนดให้ที่ดินแปลงที่โจทก์เช่าจากนายชลอและนางแฉล้มอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืน คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับตึกแถวและโรงภาพยนตร์ตลอดจนสิ่งก่อสร้างประการอื่น ๆ ที่รื้อถอนไปไม่ได้ให้แก่โจทก์และผู้เช่าช่วงกับนายชลอและนางแฉล้มและจำเลยได้นำเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปวางไว้ที่ธนาคารออมสินโดยบางรายการวางไว้ในนามของโจทก์กับเจ้าของที่ดินและผู้เช่าช่วง บางรายการวางไว้ในนามโจทก์กับเจ้าของที่ดิน บางรายการวางไว้ในนามโจทก์กับผู้เช่าช่วงตามหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทน ลงวันที่ 12กรกฎาคม 2536 วันที่ 19 กรกฎาคม 2536 วันที่ 20 กรกฎาคม 2536 วันที่ 23สิงหาคม 2536 วันที่ 15 ธันวาคม 2536 เอกสารหมาย จ.26, จ.23 ถึง จ.25,จ.27, จ.28 และ จ.22 ตามลำดับ โจทก์อุทธรณ์ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนทั้งหมดจำนวน 175,687,111 บาท โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2536 ตามเอกสารหมาย จ.30 ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2537โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้จ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับตึกแถวและโรงภาพยนตร์ตลอดจนสิ่งก่อสร้างประการอื่น ๆ ที่รื้อถอนไม่ได้และเงินค่าทดแทนความเสียหายที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ให้แก่โจทก์แต่เพียงผู้เดียว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนตามฟ้องให้แก่โจทก์เพียงผู้เดียวได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ได้กำหนดบุคคลผู้ที่จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอันเนื่องมาจากการดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไว้ใน มาตรา 18(1) ถึง (6) แยกไว้ต่างหากจากกัน การดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์รายการเดียวก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลหลายฝ่ายได้อันเป็นเหตุให้เกิดสิทธิแก่บุคคลหลายคนที่จะได้รับเงินค่าทดแทนแยกต่างหากจากกันได้สำหรับคดีนี้เป็นการดำเนินการเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์โดยอาศัยพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิต พ.ศ. 2534 ขณะที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับโจทก์ยังคงเป็นเจ้าของตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง จึงจัดเป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18(2) มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องที่จะต้องเวนคืนจากฝ่ายจำเลย แม้โจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องในสภาพที่มีภาระผูกพันตามสัญญากับผู้เช่าช่วงซึ่งเป็นผู้เช่าตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง และมีกำหนดเวลาในการเป็นเจ้าของทรัพย์ตามฟ้องอันเป็นเหตุให้การใช้หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องลดน้อยถอยลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับในกรณีการเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยไม่ตกอยู่ในข้อผูกพันใด ๆ ก็ตาม แต่ในระหว่างเวลาที่โจทก์ยังคงเป็นเจ้าของตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องอยู่นั้น ภายในบังคับแห่งกฎหมายและเท่าที่ไม่ขัดกับข้อผูกพันตามสัญญาดังกล่าวข้องต้น โจทก์ยังคงมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ที่จะใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินนั้น และได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์นั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่การใช้สิทธิของโจทก์ต้องไม่กระทบต่อสิทธิของเจ้าของที่ดินที่ตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องตั้งอยู่และสิทธิของผู้เช่าช่วงซึ่งเป็นผู้เช่าตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องจากโจทก์ กรณีของเจ้าของที่ดินที่ตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องตั้งอยู่ แม้ในขณะที่มีการดำเนินการเพื่อเวนคืนตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง ตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องยังไม่ได้ตกเป็นของเจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินจึงไม่ใช่บุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18(1) ถึง (6) ก็ตาม แต่เมื่อครบกำหนด 30 ปี ตามสัญญาเช่าที่ดินนั้นตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องจะตกเป็นของเจ้าของที่ดินทันที จึงถือได้ว่าเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าหนี้โจทก์ในหนี้ที่โจทก์จะต้องส่งมอบตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้แก่เจ้าของที่ดินเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าที่ดิน เมื่อตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องถูกเวนคืนไปเสียก่อนที่จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน อันเป็นผลให้ได้เงินค่าทดแทนมาจากการเวนคืน เงินค่าทดแทนนี้จึงเป็นทรัพย์สินซึ่งเข้าแทนที่ตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องที่ถูกเวนคืนไปในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรคสอง และ 228 วรรคหนึ่ง ฝ่ายจำเลยซึ่งมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องจึงต้องแจ้งการกำหนดเงินค่าทดแทนทรัพย์สินดังกล่าวและการที่จะใช้เงินค่าทดแทนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่เจ้าของที่ดินทราบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 231 และเมื่อเจ้าของที่ดินไม่สามารถจะตกลงกับโจทก์ได้ กรณีเช่นนี้โจทก์และเจ้าของที่ดินต่างฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้นำเงินจำนวนนั้นไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์อันร่วมกันเว้นแต่โจทก์จะหาประกันให้ไว้ตามสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 232 ดังนั้น ที่ฝ่ายจำเลยให้โจทก์กับเจ้าของที่ดินตกลงเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนกันให้ได้แล้วจึงมีสิทธิที่จะตกลงทำสัญญารับเงินค่าทดแทนจากฝ่ายจำเลยได้นั้น เป็นการดำเนินที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อโจทก์กับเจ้าของที่ดินตกลงกันเรื่องเงินค่าทดแทนตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องไม่ได้จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่ไม่อาจจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนรายใดได้เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์หรือสิทธิอื่น ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน ฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนจึงวางเงินค่าทดแทนได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 28 วรรคสองกรณีเช่นนี้ศาลไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดไปเพียงผู้เดียวส่วนกรณีของผู้เช่าช่วงซึ่งเป็นผู้เช่าตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องจากโจทก์จัดเป็นบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18(3)และเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนอันมีสิทธิได้เงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายนี้ตามมาตรา 21 วรรคท้าย ด้วย สิทธิของผู้เช่าตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องที่จะได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าวนั้น แยกต่างหากจากโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง และแยกต่างหากจากเจ้าของที่ดินด้วย ดังนั้น ที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนเบื้องต้นอันเนื่องมาจากการเวนคืนตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้แก่ผู้เช่าตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องรวมกันกับโจทก์และเจ้าของที่ดินเป็นจำนวนหนึ่งในลักษณะกรรมสิทธิ์รวม และนำเงินค่าทดแทนเบื้องต้นดังกล่าวไปฝากไว้ต่อธนาคารออมสินในนามของโจทก์กับเจ้าของที่ดินและผู้เช่าช่วงร่วมกันจึงไม่ถูกต้อง และพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายก็ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้แยกแยะได้ว่าเงินค่าทดแทนเบื้องต้นฯ เกี่ยวกับตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างที่ฝ่ายจำเลยกำหนดให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเท่าใด เป็นผลให้ไม่อาจกำหนดและคำนวณว่าโจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพียงใดและไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดไปเพียงผู้เดียวตามคำขอได้ ศาลฎีกาจึงเห็นด้วยในผลของคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่อย่างไรก็ตาม การที่ฝ่ายจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนบางรายการให้แก่โจทก์กับเจ้าของที่ดินและผู้เช่าตึกแถวและสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ในลักษณะกรรมสิทธิ์รวมซึ่งไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความสับสนแก่โจทก์ ประกอบกับโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ตามลำดับแล้ว จึงเห็นสมควรให้โอกาสโจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่ตามที่โจทก์ฎีกาขอไว้ ดังนั้นจึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ข้ออื่นอีกต่อไป”
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่