แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ จำเลยทั้งสองและผู้ร้องสอดตกลงท้ากันให้ถือเอาการตอบคำถามศาลของ น. เป็นข้อแพ้ชนะเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (1) โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดเสียก่อน ถ้าผลแห่งการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นเป็นประโยชน์ต่อคู่ความฝ่ายใด อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงตามข้ออ้างของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นทั้งหมด เมื่อ น. ตอบคำถามศาลว่า ที่ดินพิพาทหมายเลข 1 ถึง 3 เป็นของจำเลยที่ 1 ส่วนที่ดินพิพาทหมายเลข 4 เป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของคำท้าทุกประการ แม้ว่าประเด็นของคดีไม่มีว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์และผู้ร้องสอดก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2 และให้เรียกผู้ร้องสอดทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้องสอด
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3658 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2656 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโจทก์ด้านทิศตะวันตก จำเลยที่ 2 เป็นผู้อยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกโดยได้รับอนุญาตจากมารดาของโจทก์เมื่อเดือนเมษายน 2543 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอแบ่งแยกที่ดินของจำเลยที่ 1 และนำชี้แนวเขตที่ดินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์เป็นเนื้อที่ประมาณ 1 งาน โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3656 ของจำเลยที่ 1 และแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินที่นำชี้เป็นที่ดินว่างเปล่าที่จำเลยที่ 1 ครอบครองอยู่ ซึ่งความจริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3658 ของโจทก์ ต่อมาเดือนมิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 นำเสาเหล็กเข้ามาไว้ในที่ดินพิพาท โจทก์โต้แย้งว่าเป็นที่ดินของโจทก์และให้จำเลยที่ 1 ขนย้ายออกไปแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกโฉนดสำหรับที่ดินที่มารดาโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 2 อยู่อาศัย โดยอ้างว่าเป็นที่ดินว่างเปล่าซึ่งจำเลยที่ 2 ครอบครองอยู่ โจทก์ได้ยื่นคัดค้าน ผลการรังวัดของเจ้าพนักงานที่ดินปรากฏว่าเป็นที่ดินอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3658 ของโจทก์ มิใช่ที่ดินว่างเปล่า ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยทั้งสองครอบครองเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3658 ตำบลม่ง (ม่วงลาว) อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 4,500 บาท และเดือนละ 1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปจากที่ดิน กับให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองต่างครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นเวลาประมาณ 50 ปี ที่ดินพิพาทเป็นของวัดมะกรูด จำเลยทั้งสองครอบครองและปลูกบ้านอยู่โดยอาศัยสิทธิของวัดมะกรูด โจทก์ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้อง ที่ดินพิพาทอยู่ห่างไกลความเจริญและมีจำนวนเพียงเล็กน้อย หากให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่เกินปีละ 500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องทั้งสองสำนวนว่า ผู้ร้องสอดเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ดินที่โจทก์พิพาทกับจำเลยทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 10729 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด จำเลยทั้งสองปลูกบ้านอยู่ในที่ดินโดยผู้ร้องสอดอนุญาตให้อาศัยอยู่มาเป็นเวลากว่า 50 ปี มารดาโจทก์ทราบดีและไม่เคยเข้ามายุ่ง โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอด ห้ามมิให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และผู้ร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ กับให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมากว่า 200 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองและผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าระหว่างพิจารณา โจทก์ จำเลยทั้งสอง และผู้ร้องสอดได้ดูแผนที่วิวาทตามที่มีการรังวัดในวันที่ 28 กันยายน 2548 แล้วตกลงท้ากันว่า หากนายนุสรณ์ นายช่างผู้ทำการรังวัดแผนที่วิวาทฉบับดังกล่าวตอบคำถามของศาลว่า ที่ดินพิพาทหมายเลข 1 ถึง 4 เป็นของผู้ใดแล้วอีกฝ่ายหนึ่งยอมรับว่าเป็นผู้แพ้คดีตามที่นายนุสรณ์ตอบศาลปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 14 ธันวาคม 2548 ศาลชั้นต้นจึงได้สอบถามนายนุสรณ์ต่อหน้าคู่ความทุกฝ่าย นายนุสรณ์ตอบศาลว่าที่ดินพิพาทหมายเลข 1 ถึง 3 เป็นของจำเลยที่ 1 ส่วนที่ดินพิพาทหมายเลข 4 เป็นของจำเลยที่ 2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองและผู้ร้องสอดว่า การที่คู่ความตกลงท้ากันและให้ศาลพิพากษาตามคำท้าดังกล่าวเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ จำเลยทั้งสองและผู้ร้องสอดตกลงท้ากันให้ถือเอาการตอบคำถามศาลของนายนุสรณ์เป็นข้อแพ้ชนะในคดีนั้นถือว่าเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (1) โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดเสียก่อน ถ้าผลแห่งการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นเป็นประโยชน์ต่อคู่ความฝ่ายใด อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงตามข้ออ้างของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นทั้งหมด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่านายนุสรณ์ตอบคำถามศาลว่า ที่ดินพิพาทหมายเลข 1 ถึง 3 เป็นของจำเลยที่ 1 ส่วนที่ดินพิพาทหมายเลข 4 เป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของคำท้าทุกประการ แม้ว่าประเด็นของคดีไม่มีว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 หรือไม่ก็ตามโจทก์และผู้ร้องสอดก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าคำท้าที่คู่ความตกลงกันมิได้เป็นไปในประเด็นแห่งคดีและไม่ชัดแจ้งนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ