แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จัดให้มีบริการเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์โดยผู้เช่าจะต้องเสียเงินค่าเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมและเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (6) และค่าตอบแทนที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยมีลักษณะทำนองเดียวกับค่าเช่า เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าตอบแทนเกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์สามารถทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ จึงขาดอายุความ และเมื่อสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มซึ่งเป็นเบี้ยปรับและเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตามมาตรา 193/26
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังในสภาพใช้การได้ดี หรือมิฉะนั้นให้ใช้ราคาแก่โจทก์ หากการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ยังสามารถกระทำได้ โจทก์ก็ต้องขอให้จำเลยส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ จะขอให้จำเลยใช้ราคาเครื่องอุปกรณ์แทนไม่ได้ และการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์มิใช่หนี้เงิน จึงไม่อาจคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบเครื่องอุปกรณ์คืนโจทก์ได้ ต่อเมื่อการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์เป็นพ้นวิสัยจะทำได้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบ จึงจะมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือชดใช้ราคาพร้อมด้วยดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เป็นราคาเครื่องอุปกรณ์โดยนับตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาตาม ป.พ.พ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 ดังนั้นเวลาที่จะกะประมาณราคาเครื่องอุปกรณ์จึงมิใช่เวลาที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบเครื่องอุปกรณ์คืนโจทก์ตามกำหนด แต่หมายถึงเวลาที่การชำระหนี้คือการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์คืนโจทก์กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นพ้นวิสัยตั้งแต่เมื่อใด จำเลยจึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในราคาทรัพย์ดังกล่าวนับแต่วันฟ้องอันเป็นเวลาที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามมาตรา 213
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2528 จำเลยทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ไปจากโจทก์ โดยยินยอมชำระค่าเช่าเดือนละ 750 บาท ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2539 ได้มีประกาศกระทรวงคมนาคมซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 เรื่องกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุโดยจำเลยผู้ใช้ความถี่วิทยุคมนาคมต้องชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่รายปีภายในเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1 ต่อวันของค่าตอบแทนรายปีนับถัดจากวันครบกำหนดคือวันละ 32 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยยื่นแบบแสดงรายการเสียค่าตอบแทนแก่โจทก์ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2540 แต่จำเลยเพิกเฉยและต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2540 จำเลยมีหนังสือขอยกเลิกสัญญาเช่าและขอส่งคืนเครื่องวิทยุคมนาคม โจทก์แจ้งผลการพิจารณายกเลิกสัญญาเช่าให้จำเลยทราบและให้จำเลยส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟัง 1 ชุด แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยจึงต้องส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังคืนโจทก์ในสภาพใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 4,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดวันที่ 15 ธันวาคม 2540 จนถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ย 1,633.10 บาท รวมเป็นเงิน 6,133.10 บาท และต้องรับผิดค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุประจำปี 2539 และปี 2540 จำนวน 6,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้อง คิดเป็นดอกเบี้ย 2,561.32 บาท รวมเป็นเงิน 8,961.32 บาท และเงินเพิ่มค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุซึ่งคิดเป็นเงิน 124,736 บาท ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟัง 1 ชุด ในสภาพใช้การได้ดี หรือมิฉะนั้นให้ใช้ราคาเป็นเงิน 6,133.10 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระครบถ้วน และให้จำเลยชำระเงิน 8,961.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระครบถ้วน กับให้จำเลยชำระเงิน 124,736 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราวันละ 64 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระต้นเงิน 6,400 บาท แก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าการใช้ความถี่วิทยุประจำปี 2539 และ 2540 จำนวน 6,400 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 2,561.32 บาท พร้อมเงินเพิ่มจำนวน 124,736 บาท และเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟัง 1 ชุด ราคา 6,133.10 บาท เกินกว่า 2 ปี นับแต่โจทก์อนุมัติให้จำเลยเลิกสัญญาเช่าตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2540 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟัง 1 ชุด ในสภาพใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน 4,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 500 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ระหว่างระยะเวลายื่นฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์กับโจทก์และเมื่อมีการเลิกสัญญาปรากฏว่าจำเลยมิได้ส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังซึ่งมีราคา 4,500 บาท แก่โจทก์ และค้างชำระค่าตอบแทนการใช้ความถี่วิทยุประจำปี 2539 และปี 2540 พร้อมเงินเพิ่มและดอกเบี้ย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า สิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุและเงินเพิ่มค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นกรมในรัฐบาล และการที่โจทก์ให้จำเลยเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์เป็นการสนับสนุนการให้บริการโทรคมนาคมสาธารณะเพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และเป็นการบริการสังคมโดยมิได้มีวัตถุประสงค์หวังผลกำไรดังที่อ้างก็ตาม แต่การให้บริการเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ดังกล่าว ผู้รับบริการคือจำเลยผู้เช่าจะต้องเสียค่าเช่าแก่โจทก์ตามสัญญาเช่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ข้อ 3 นอกจากนี้จำเลยยังจะต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเป็นรายปีอีกส่วนหนึ่งด้วยหากไม่เสียภายในกำหนดจะต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระนับถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระเสร็จ ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ซึ่งประกาศดังกล่าวถือเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์เนื่องจากสัญญาเช่าข้อ 4 ระบุว่า จำเลยต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 กฎหมาย ระเบียบและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และต้องรับผิดในกรณีที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดนั้นๆ ด้วย การที่โจทก์จัดให้มีบริการเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และอุปกรณ์โดยผู้เช่าจะต้องเสียเงินค่าเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมและเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องค่าเช่าของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) และค่าตอบแทนที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยผู้ใช้ความถี่วิทยุก็มีลักษณะทำนองเดียวกับค่าเช่า เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุประจำปี 2549 และปี 2540 เกินกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์สามารถทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ สิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุดังกล่าวจึงขาดอายุความ และเมื่อสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มดังกล่าวซึ่งเป็นเบี้ยปรับและเป็นหนี้อุปกรณ์ก็ย่อมขาดอายุความด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/26 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า ในกรณีที่จำเลยส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังคืนโจทก์ไม่ได้และต้องใช้ราคาแทนนั้น จำเลยจะต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในราคาทรัพย์ดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 225 บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาวัตถุอันได้เสื่อมเสียไประหว่างผิดนัดก็ดี หรือวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัดก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนที่จะต้องใช้เป็นค่าสินไหมทดแทนคิดตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นก็ได้…” คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้คือส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟัง 1 ชุด ในสภาพใช้การได้ดี หรือมิฉะนั้นให้ใช้ราคาแก่โจทก์ หากวัตถุแห่งหนี้คือการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังยังสามารถกระทำได้โจทก์ก็ต้องขอให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ด้วยการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังจะขอให้จำเลยใช้ราคาเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังแทนไม่ได้ และการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังดังกล่าวมิใช่หนี้เงิน โจทก์จึงไม่อาจคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2540 อันเป็นวันที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังคืนโจทก์ได้ ต่อเมื่อการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังเป็นพ้นวิสัยจะทำได้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยต้องรับผิดชอบ โจทก์จึงจะมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือชดใช้ราคาเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังพร้อมด้วยดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เป็นราคาเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังโดยนับตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 ดังนั้นเวลาที่จะกะประมาณราคาเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังจึงมิใช่เวลาที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังคืนโจทก์ตามกำหนด แต่หมายถึงเวลาที่การชำระหนี้คือการส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟังคืนโจทก์กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นพ้นวิสัยตั้งแต่เมื่อใด จำเลยจึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในราคาทรัพย์ดังกล่าวนับแต่วันฟ้องอันเป็นเวลาที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 คดีนี้โจทก์ขอดอกเบี้ยส่วนนี้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2540 เมื่อโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องแต่ศาลล่างทั้งสองให้คิดตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจึงไม่ถูกต้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยส่งมอบเครื่องอุปกรณ์ชุดปากพูดหูฟัง 1 ชุด ในสภาพใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน 4,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16 ตุลาคม 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ