คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8692/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยโดยอ้างถึงการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เพียงประการเดียว ดังจะเห็นได้จากข้อหาหรือฐานความผิดหน้าฟ้อง โจทก์ระบุว่าผิดสัญญาจ้างแรงงาน ละเมิด เรียกค่าเสียหาย และบรรยายฟ้องถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ มีหน้าที่ และความรับผิดชอบดำเนินงานตามที่โจทก์มอบหมาย อนุมัติ และให้ความเห็นชอบ และระบุถึงการปฏิบัติงานของจำเลยว่าเป็นการผิดข้อบังคับองค์การสะพานปลา เป็นความบกพร่องต่อหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้น แม้ว่าผู้อำนวยการโจทก์จะทราบผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2544 เกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง ก็ตาม แต่ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เหตุคดีนี้เกิดเมื่อเดือนเมษายน 2540 เมื่อนับถึงวันฟ้อง ฟ้องโจทก์ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,989,938.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,865,368.12 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,865,368.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 ธันวาคม 2544) ต้องไม่เกิน 124,570.82 บาท โดยเงื่อนไขว่า หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดภูเก็ตกาญจนมณี หรือนายประสิทธิ์ จำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 566/2546 ของศาลจังหวัดภูเก็ตแล้วเพียงใด ก็ให้จำเลยรับผิดในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น แต่ทั้งนี้จำเลยไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดภูเก็ตกาญจนมณีและนายประสิทธิ์ต้องรับผิดต่อโจทก์ในคดีดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีของจำเลยมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 10 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว จะใช้อายุความ 10 ปี เพราะผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่ได้เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อผู้อำนวยการของโจทก์ทราบผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2544 จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยโดยอ้างถึงการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เพียงประการเดียว ดังจะเห็นได้จากข้อหาหรือฐานความผิดหน้าฟ้อง โจทก์ระบุว่าผิดสัญญาจ้างแรงงาน ละเมิด เรียกค่าเสียหาย ในคำฟ้องข้อ 1 โจทก์ได้บรรยายความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ มีหน้าที่และความรับผิดชอบดำเนินงานตามที่โจทก์มอบหมาย อนุมัติ และให้ความเห็นชอบ ส่วนคำฟ้องข้อ 2 ถึงข้อ 4 ระบุถึงการปฏิบัติงานของจำเลยว่าเป็นการผิดข้อบังคับองค์การสะพานปลา (ฉบับที่ 4) ว่าด้วยระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานองค์การสะพานปลา ลงวันที่ 18 มีนาคม 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2534 เป็นความบกพร่องต่อหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 1,865,368.12 บาท คำฟ้องของโจทก์ดังที่กล่าวข้างต้นจึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน ดังนั้น แม้ว่าผู้อำนวยการโจทก์จะทราบผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 และโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2544 เกินกว่าสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขาดอายุความเรียกร้องสิทธิตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ก็ตาม แต่ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2540 เมื่อนับถึงวันฟ้อง ฟ้องโจทก์ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงหาขาดอายุความตามที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share