แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 2 สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมของธนาคาร ท. ให้แก่ ส. หรือผู้ถือ แม้เป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือ แต่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นคือผู้รับเงินตามเช็ค มิใช่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค โจทก์ทั้งสองก็มิได้เป็นผู้ทรงเช็ค จึงมิใช่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1000 ที่จะมีอำนาจฟ้องธนาคารจำเลยให้รับผิดชดใช้เงินตามเช็ค ทั้งการที่จำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคาร ท. ไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้อื่นเพื่อเรียกเก็บเงิน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในอันที่จะทำให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีโจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดมีสาขาสามพราน เป็นสาขาหนึ่งของจำเลย เมื่อประมาณต้นเดือนมกราคม 2534 โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 2 สั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักราชดำเนิน ลงวันที่ 9 มกราคม 2534 จำนวนเงิน 6,000,000 บาท โดยระบุชื่อนางสาวสมรวยเป็นผู้รับเงิน และได้ขีดคร่อมเช็คระบุข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “เอซีเปยี่ออลลี่” มีความหมายว่าให้เข้าบัญชีของผู้รับเงินโดยเฉพาะห้ามเปลี่ยนมือ เพื่อชำระค่าซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5810 ให้แก่นางสาวสมรวย ผู้จะขายที่ดิน โจทก์ที่ 1 ได้ส่งมอบเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อซึ่งเป็นผู้ติดต่อขายที่ดินของนางสาวสมรวย ต่อมาโจทก์ทั้งสองทราบว่าโจทก์ทั้งสองถูกผู้มีชื่อกับพวกหลอกลวงให้ซื้อที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2535 โจทก์ทั้งสองได้ติดต่อไปที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักราชดำเนินจึงทราบว่าจำเลยสาขาสามพรานได้เรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2534 โดยมีลายมือชื่อนางสาวสมรวยสลักหลังในเช็คฉบับดังกล่าว แล้วมีการนำเงินตามเช็คจำนวน 6,000,0000 บาท เข้าบัญชีของนางสาวสมลักษณ์และนางสาววาสนาโจทก์ทั้งสองได้ติดตามสอบถามนางสาวสมรวย จึงได้รับแจ้งว่านางสาวสมรวยไม่เคยบอกขายที่ดินให้โจทก์ทั้งสองและไม่เคยได้รับเช็คและเงินตามเช็ค ทั้งไม่เคยลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คฉบับดังกล่าวมอบให้ผู้อื่นไปเรียกเก็บเงินตามเช็ค ลายมือชื่อในเช็คฉบับดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม นางสาวสมรวยได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว การที่จำเลยได้รับเอาเช็คและเรียกเก็บเงินตามเช็คซึ่งเป็นเช็คขีดคร่อมและมีข้อความที่โจทก์ทั้งสองระบุไว้เป็นภาษาอังกฤษว่า “เอซีเปยีออลลี่” และระบุชื่อนางสาวสมรวยเป็นผู้รับเงินย่อมแสดงว่าโจทก์ทั้งสองผู้สั่งจ่ายต้องการให้เช็คฉบับดังกล่าวเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของนางสาวสมรวยเท่านั้น ห้ามเปลี่ยนมือ อีกทั้งลายมือชื่อนางสาวสมรวยที่สลักหลังเช็คเป็นลายมือชื่อปลอม ผู้ได้รับเช็คโดยการสลักหลักปลอมจึงไม่มีสิทธิในเช็ค จำเลยประกอบกิจการธนาคารย่อมเป็นผู้มีวิชาชีพที่จะต้องรู้เรื่องเช็คเป็นอย่างดี การที่จำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คซึ่งห้ามเปลี่ยนมือแล้วนำเข้าบัญชีของผู้อื่นทั้งที่จะต้องเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีนางสาวสมรวยผู้รับเงินโดยเฉพาะเท่านั้น ไม่อาจสลักหลังโอนเช็คต่อไปได้ เมื่อมีการสลักหลังเช็ค จำเลยซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพเช่นนั้นย่อมจะต้องมีข้อสงสัยเป็นประจักษ์ว่าเช็คฉบับดังกล่าวมีการสลักหลังปลอม ผู้ที่รับเช็คไว้และนำมาเข้าบัญชีเรียกเก็บตามเช็คย่อมมีพิรุธไม่สุจริต และไม่ใช่ผู้มีสิทธิในเช็คนั้นตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยฝ่าฝืนกฎหมายและธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร จึงเป็นกระทำโดยประมาณเลินเล่อ โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของเช็คที่แท้จริงและได้รับความเสียหายเพราะการเรียกเก็บเงินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โจทก์ทั้งสองเพิ่งทราบการกระทำของจำเลยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2535 ภายหลังจากโจทก์ทั้งสองทราบว่าถูกผู้มีชื่อกับพวกหลอกลวงขายที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยจึงมีหน้าที่คืนเงินตามเช็คจำนวน 6,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง เงินจำนวนดังกล่าวโจทก์ทั้งสองได้กู้ยืมจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักราชดำเนิน เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2534 อันเป็นวันที่จำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็ค นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 23 เดือนเศษ แต่โจทก์ทั้งสองขอคิดเพียง 1,380,000 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 7,380,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 7,380,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คส่งมอบให้แก่ผู้มีชื่อเพื่อชำระค่าที่ดินให้แก่นางสาวสมรวยโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงและไม่ใช่เจ้าของเช็คที่แท้จริง จำเลยไม่ได้ประมาทเลินเล่อ แต่ได้กระทำไปโดยสุจริตตามทางการค้าปกติของจำเลย เช็คตามฟ้องโจทก์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายระบุให้จ่ายเงินแก่นางสาวสมรวยหรือผู้ถือ ถึงแม้จะขีดคร่อมเช็คและเขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “เอซีเปยีออลี่” ก็มีความหมายเพียงว่า บัญชีผู้รับเงินเท่านั้น ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้จ่ายเงินตามเช็คเฉพาะแก่นางสาวสมรวย หากแต่ยินยอมให้จ่ายเงินแก่ผู้ถือเช็คด้วย เมื่อพนักงานของจำเลยสาขาสามพรานได้รับเช็คจากนางสมลักษณ์ซึ่งเป็นลูกค้า นำฝากเข้าบัญชีเงินฝากประเภทสะสมทรัพย์ บัญชีเลขที่ 166 0 166214 ที่เป็นเจ้าของร่วมกับนางสาววาสนาเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค ตรวจสอบแล้วเห็นว่าเช็คดังกล่าวสั่งจ่ายเงินให้แก่นางสาวสมรวยหรือผู้ถือ จึงรับเช็คเข้าบัญชีแล้วส่งเรียกเก็บเงินจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักงานราชดำเนิน กรณีจึงเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ของ โจทก์กล่าวอ้างว่าประสงค์จ่ายเงินให้เฉพาะนางสาวสมรวย แต่กลับไม่ขีดฆ่าข้อความว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็ค จนเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเชื่อโดยสุจริตว่าโจทก์ประสงค์ให้จ่ายเงินเข้าบัญชีผู้รับเงินได้ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินตามเช็ค โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 6,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 9 มกราคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 2 สั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักราชดำเนินลงวันที่ 9 มกราคม 2534 จำนวนเงิน 6,000,000 บาท ระบุชื่อนางสาวสมรวยเป็นผู้รับเงิน โดยมิได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คฉบับดังกล่าวออก เช็คดังกล่าวเป็นเช็คขีดคร่อมมีข้อความภาษาอังกฤษกำกับว่า “เอซีเปยีออลลี่” ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ที่ 1 ส่งมอบเช็คดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อซึ่งเป็นผู้ติดต่อขายที่ดินให้แก่นางสาวสมรวย จำเลยได้เรียกเก็บเงินตามเช็คดังกล่าวจากธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน) เข้าบัญชีเงินฝากของนางสมลักษณ์และนางสาววาสนาซึ่งเป็นผู้นำฝากเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน มีปัญหาต้องวินิฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1000 ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องในกรณีนี้ไว้ว่า “ธนาคารใดได้รับเงินเพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่ออันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้ ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้นต้องเป็นผู้รับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่” คดีนี้โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 2 สั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้รับเงินคือนางสาวสมรวยหรือผู้ถือ แม้เช็คดังกล่าวจะได้มีการขีดคร่อมและมีข้อความภาษาอังกฤษกำกับว่า “เอซีเปยีออลลี่” ซึ่งโจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นเช็คห้ามเปลี่ยนมือแต่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นซึ่งเป็นผู้เสียหายในเรื่องนี่โดยตรงก็คือผู้รับเงินตามเช็คนั้น หาใช่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นแต่อย่างใดไม่ ตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองก็ได้ความว่า การกระทำของจำเลยทำให้ผู้รับเงินตามเช็คนั้น และผู้รับเงินได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวน โจทก์ทั้งสองมิได้เป็นผู้ทรงเช็คฉบับดังกล่าว จึงมิใช่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1000 ที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้เงินตามเช็คดังกล่าว ทั้งพฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่เรียกเก็บเงินตามเช็คดังกล่าวจากธนาคารเจ้าของเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้อื่นซึ่งเป็นผู้นำฝากเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินดังที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างมาในฟ้อง ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในอันที่จะทำให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของจำเลยต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีนี้เปลี่ยนแปลง”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ