แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 รับผู้กล่าวหาทั้งสองไปศาลและพากลับจากศาลโดยทราบดีว่าผู้กล่าวหาทั้งสองไปศาลเพื่อเบิกความต่อศาลตามหมายเรียก โดยไม่ให้ผู้กล่าวหาทั้งสองเบิกความต่อศาลตามหมายเรียก จึงเป็นการร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล อันเข้าลักษณะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลซึ่งถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1)
ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ว่า สถานที่ที่เกิดเหตุมิใช่บริเวณศาลเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งหยิบยกขึ้นมาว่ากล่าวในภายหลังซึ่งขัดแย้งกับคำรับสารภาพผิดของผู้ถูกกล่าวที่ 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกา
ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ว่า องค์คณะของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีและพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะรายชื่อผู้พิพากษาในองค์คณะพิจารณาคดีและพิพากษาคดีเป็นรายชื่อผู้พิพากษาคนละองค์คณะกัน เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง และถือว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พี่ชายจำเลยและผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ทนายความของจำเลยกระทำการขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลด้วยการพาและบอกให้ผู้กล่าวหาทั้งสองซึ่งมาศาลในวันนัดตามหมายเรียกแล้วกลับบ้าน เพื่อมิให้ผู้กล่าวหาทั้งสองเบิกความเป็นพยานต่อศาล โดยมีเจตนาเพื่อจะช่วยให้จำเลยไม่ต้องรับโทษ การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่มีลักษณะเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาเรื่องมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่ผู้ถูกกล่วหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 หรือไม่ ไปพร้อมกัน
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายอานนท์เป็นจำเลยข้อหาพรากเด็กหญิง….. ผู้กล่าวหาที่ 2 อายุ 14 ปีเศษ ไปจากนางดวงใจผู้กล่าวหาที่ 1 มารดาผู้กล่าวหาที่ 2 และกระทำชำเราผู้กล่าวหาที่ 2 โดยผู้กล่าวหาที่ 2 ยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317
ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้กล่าวหาทั้งสองซึ่งโจทก์อ้างเป็นพยานได้รับหมายเรียกของศาลชั้นต้นแล้วไม่มาศาลและไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลชั้นต้นทราบ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้กล่าวหาทั้งสองได้ตามหมายจับของศาลชั้นต้น และนำตัวผู้กล่าวหาทั้งสองมาส่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วได้ความว่า ผู้กล่าวหาทั้งสองมาศาลทุกนัด แต่ในนัดแรกผู้ถูกกล่วหาที่ 4 ได้พาผู้กล่าวหาทั้งสองกลับบ้าน อ้างว่าจำเลยไม่มาศาลไม่ต้องไปเป็นพยาน ส่วนนัดที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พาผู้กล่าวหาทั้งสองไปพบผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นพี่ชายจำเลยและผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ทนายความของจำเลย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ให้ผู้กล่าวหาทั้งสองกลับบ้าน อ้างว่าจะประสานงานกับศาลชั้นต้นและพนักงานอัยการเอง ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีมูลความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หมายเรียกผู้กล่าวหาทั้งสี่มาสอบคำให้การและดำเนินการต่อไป
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ให้จำคุกคนละ 6 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 เดือน ให้ยกข้อกล่าวหาสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ขอแถลงการณ์ด้วยปากนั้น เห็นว่าไม่จำเป็นแก่คดีจึงให้งดเสีย ในเบื้องต้นเห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ร่วมกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วยหรือไม่เพราะผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ยังฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่าในวันที่ 29 มกราคม 2545 ที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 พาผู้กล่าวหาทั้งสองไปศาลและพากลับบ้านนั้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้กระทำไปโดยไม่ทราบว่าในวันดังกล่าวผู้กล่าวหาทั้งสองต้องมาเป็นพยานศาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ไม่มีเจตนาขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาล ในข้อนี้แม้ว่าตามคำเบิกความของผู้กล่าวหาทั้งสองในชั้นไต่สวนจะยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ทราบหรือไม่ว่าวันดังกล่าวผู้กล่าวหาทั้งสองมาศาลตามหมายเรียกพยานของศาลก็ตาม แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ผู้กล่าวหาทั้งสองให้การต่อศาลทั้งในชั้นต้นที่ถูกจับกุมตัวมาศาลเนื่องจากขัดขืนไม่มาศาลตามหมายเรียกเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 หรือในชั้นไต่สวนเรื่องละเมิดอำนาจศาลเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2545 นั้น ล้วนได้ความตรงกันในสาระสำคัญว่า ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1156/2544 ของศาลชั้นต้น ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นโจทก์ฟ้องนายอานนท์เป็นจำเลยในข้อหาพรากผู้กล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้กล่าวหาที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาเพื่อการอนาจาร และกระทำชำเราผู้กล่าวหาที่ 2 นั้น ผู้กล่าวหาทั้งสองต่างไม่ติดใจเอาความกับจำเลยแล้ว เนื่องจากผู้กล่าวหาที่ 1 ได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาท จากฝ่ายจำเลยแล้วซึ่งเจือสมกับคำร้องประกอบคำรับสารภาพฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม 2545 ของผู้กล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นพี่ชายของจำเลยที่ยอมรับว่าตนเป็นผู้ติดต่อให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นทนายแก้ต่างให้จำเลย และผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้แนะแนวทางที่เป็นประโยชน์แก่การต่อสู้คดีของจำเลยว่าให้ผู้กล่าวหาทั้งสองซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยและผู้กล่าวหาที่ 2 ได้จดทะเบียนสมรสกัน แล้วให้จำเลยมารับสารภาพต่อศาล ซึ่งหากดำเนินการตามแนวทางเช่นนี้ แม้จำเลยมีความผิดแต่ก็ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคท้าย และสอดคล้องกับคำร้องประกอบคำรับสารภาพของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม 2545 โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 อ้างว่าตนได้จัดทำคำร้องขออนุญาตสมรส ใบแต่งทนายความ หนังสือยินยอมให้สมรสของมารดาและหนังสือรับรองของผู้จะจัดการสมรสให้เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นำไปให้ผู้กล่าวหาทั้งสองลงชื่อด้วยตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3 แต่ศาลฎีกาได้ตรวจเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3 ทุกฉบับดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเป็นเพียงข้อความที่พิมพ์เตรียมไว้เพื่อจะยื่นคำร้องต่อศาลเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีเอกสารฉบับใดที่ผู้กล่าวหาทั้งสองได้ลงชื่อไว้แล้วยิ่งกว่านั้น ข้อเท็จจริงยังได้ความตามคำเบิกความของผู้กล่าวหาที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1156/2544 ของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 17 เมษายน 2545 อันเป็นเอกสารท้ายอุทธรณ์เพิ่มเติมฉบับลงวันที่ 29 เมษายน 2545 ที่ศาลชั้นต้นรับเป็นคำแถลงการณ์ด้วยว่า ผู้กล่าวหาที่ 1 เบิกความตอบโจทก์ว่าจำเลยมีภริยาแล้ว คนแรกชื่อนางน้อย ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งได้เลิกรากันแล้ว คนที่สองชื่อนางสุรีย์ ไม่ทราบนามสกุล ปัจจุบันยังอยู่กินด้วยกัน ไม่ทราบว่าจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ จำเลยมีบุตรกับนางน้อย 2 คน เป็นชายหนึ่งคน และเป็นหญิงหนึ่งคน แต่ไม่มีบุตรกับนางสุรีย์ กับเบิกความอีกตอนหนึ่งตอบศาลถามว่า ในวันที่ 13 กันยายน 2543 ที่ผู้กล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรสาวมาบอกแก่พยานว่า จำเลยจะรับผิดชอบและจะแต่งงานกับผู้กล่าวหาที่ 2 นั้น พยานบอกแก่ผู้กล่าวหาที่ 2 ว่า อย่าแต่งงานกับจำเลยเพราะจำเลยมีลูกมีเมียแล้ว ดังนี้ เห็นว่า ตามพยานหลักฐานของผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ดังที่ได้วินิจฉัยมา เมื่อพิจารณาประกอบคำเบิกความของผู้กล่าวหาที่ 1 แล้ว แม้ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ที่กล่าวอ้างว่า ฝ่ายจำเลยจะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาตให้จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับผู้กล่าวหาที่ 2 จะมีข้อเท็จจริงขัดแย้งกับหลักการของกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากศาลไม่อาจอนุญาตให้ชายที่ภริยาและบุตรแล้วทำการสมรสซ้อนได้ จึงเป็นข้ออ้างที่ขัดต่อเหตุผลมีพิรุธไม่น่าเชื่อก็ตาม แต่การที่ผู้กล่าวหาที่ 1 ยอมรับว่าได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากฝ่ายจำเลยเป็นเงิน 40,000 บาท แล้ว แต่ไม่ติดใจเอาความกับจำเลย ก็มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าเมื่อฝ่ายจำเลยไม่อาจใช้แนวทางการขออนุญาตศาลให้จำเลยกับผู้กล่าวหาที่ 2 จดทะเบียนสมรสกันเพื่อที่จำเลยจะได้รับยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคท้าย เนื่องจากมีข้อติดขัดตรงที่จำเลยมีภริยาและบุตรแล้วหนทางออกของจำเลยจึงคงมีอยู่เพียงทางเดียวก็คือ ให้ผู้กล่าวหาทั้งสองหลีกเลี่ยงการมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลตามหมายเรียกนั่นเอง และในประการสำคัญคือ ตามบันทึกคำเบิกความของผู้กล่าวหาที่ 1 ฉบับลงวันที่ 17 เมษายน 2545 ผู้กล่าหาที่ 1 เบิกความต่อศาลด้วยว่า หลังจากผู้กล่าวหาที่ 2 กลับมาบ้านได้ประมาณ 1 ปีแล้ว ฝ่ายจำเลยตกลงให้เงินผู้กล่าวหาที่ 1 จำนวน 40,000 บาท ผู้กล่าวหาที่ 1 ถามว่าเมื่อชดใช้ค่าเสียหายแล้ว เรื่องตำรวจจะทำอย่างไร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นพี่ชายจำเลยบอกว่าจะจัดการเองและผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ให้ผู้กล่าวหาที่ 1 ไปรับเงินค่าเสียหายที่บ้านของผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เมื่อผู้กล่าวหาที่ 1 ได้รับเงินแล้วก็ไม่ติดใจเอาความกับจำเลยอีกต่อไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ในฐานะเป็นผู้ใหญ่บ้านได้มีส่วนรับรู้ในเรื่องการกระทำความผิดของจำเลยและได้มีส่วนร่วมในการเจรจาตกลงเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายระหว่างผู้กล่าวหาทั้งสองและฝ่ายจำเลยตลอดมาตั้งแต่ต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านตามคำแถลงการณ์ประกอบฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และเอกสารประกอบท้ายฎีกาแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นด้วยกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ในการที่จะดำเนินการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือให้จำเลยไม่ต้องรับโทษในคดีนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ในวันที่ 29 มกราคม 2545 ที่ผู้กล่าวหาที่ 4 รับผู้กล่าวหาทั้งสองไปศาลและพากลับจากศาลนั้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ทราบดีว่าผู้กล่าวหาทั้งสองไปศาลเพื่อเบิกความต่อศาลตามหมายเรียก แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 กลับพาผู้กล่าวหาทั้งสองกลับบ้าน โดยไม่ให้ผู้กล่าวหาทั้งสองเบิกความต่อศาลตามหมายเรียก การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 จึงเป็นการร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลอันเข้าลักษณะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องกันว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ร่วมกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ฎีกาคัดค้านว่า บริเวณที่เกิดเหตุอยู่นอกเขตอาคารบริเวณศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นร้านขายกาแฟและอาหารต่างๆ ที่มีประชาชนเข้าออกใช้บริการตลอดเวลา ซึ่งเป็นร้านที่รวมของที่ตั้งหน่วยงานราชการอื่นๆ ของจังหวัดด้วย อันเป็นฎีกาในทำนองโต้แย้งว่า สถานที่ที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 เจรจาและบอกให้ผู้กล่าวหาทั้งสองกลับบ้านโดยไม่ต้องเบิกความต่อศาลตามนัดนั้นมิใช่บริเวณศาล เพื่อต่อสู้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิได้ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เพิ่งหยิบยกขึ้นมาว่ากล่าวในภายหลัง ซึ่งขัดแย้งกับคำรับสารภาพผิดของผู้กล่าวหาที่ 3 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ฎีกาอ้างว่า องค์คณะของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีและพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะรายชื่อผู้พิพากษาในองค์คณะพิจารณาคดีและพิพากษาคดีเป็นรายชื่อผู้พิพากษาคนละองค์คณะกันนั้น ประเด็นข้อนี้เห็นว่า การที่ลายมือชื่อองค์คณะพิจารณาคดีและพิพากษาคดีของผู้พิพากษาบางรายชื่อไม่ตรงกันนั้น ข้อเท็จจริงเกิดจากกรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันไม่อาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้นในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น ทำให้ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในคดีไม่อาจทำคำพิพากษาหรือคำสั่งคดีนั้นต่อไปได้ อันเป็นเหตุให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรืออธิบดีผู้พิพากษาต้องใช้อำนาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 30 ประกอบมาตรา 29 (3) ตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะแทนก็ได้ ดังนั้น ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในข้อนี้จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหาใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายไม่ และถือว่าเป็นฎาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงต้องห้ามมิให้ถูกล่าวหาที่ 3 ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ให้เช่นกัน
เมื่อผลแห่งการวินิจฉัยในประเด็นแรกได้ความว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พี่ชายจำเลยและผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ทนายความของจำเลยกระทำการขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลด้วยการพาและบอกให้ผู้กล่าวหาทั้งสองซึ่งมาศาลในวันนัดตามหมายเรียกแล้วกลับบ้าน เพื่อมิให้ผู้กล่าวหาทั้งสองเบิกความเป็นพยานต่อศาลตามหมายเรียก โดยมีเจตนาเพื่อจะช่วยให้จำเลยไม่ต้องรับโทษทางอาญาเช่นนี้ การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่มีลักษณะเป็นเหตุในลักษณะคดี ซึ่งสมควรที่จะได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 หรือไม่ ไปพร้อมกันในประเด็นเดียวกัน ซึ่งประเด็นข้อนี้เห็นว่า แม้โดยปกติการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามในกรณีเช่นนี้จะถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะนอกจากจะเป็นการกระทำที่ล่วงล้ำต่ออำนาจของศาลในการพิจารณาคดี เพราะทำให้ศาลไม่อาจควบคุมการพิจารณาคดีโดยต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลมิให้เสร็จไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรมด้วย ซึ่งสมควรที่จะลงโทษผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวอย่างเด็ดขาดดังที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องกันให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ที่ให้การรับสารภาพคนละ 3 เดือน และจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ที่ให้การปฏิเสธมีกำหนด 6 เดือน ก็ตาม แต่เมื่อได้พิจารณาถึงมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกระทำผิดเป็นเพราะผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นพี่ชายของจำเลย ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นทนายความของจำเลย สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 แม้มิใช่เป็นญาติเกี่ยวข้องกับจำเลยโดยตรง แต่ก็เป็นผู้ใหญ่บ้านในเขตท้องที่ที่ผู้กล่าวหาทั้งสองเป็นลูกบ้าน ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับประวัติการทำคุณงามความดีดังที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 กล่าวอ้างและแนบเอกสารประกอบท้ายคำแถลงการณ์ประกอบฎีกาแล้ว มีเหตุให้เชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ร่วมให้ความช่วยเหลือในลักษณะการพยายามไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของลูกบ้านในฐานะที่ตนเป็นผู้ใหญ่บ้านมากกว่าที่จะกระทำเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นอีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต่างก็เพิ่งกระทำความผิดเป็นครั้งแรก และไม่เคยต้องโทษอาญาใดๆ มาก่อน ในประการสำคัญที่สุดคือ ความผิดที่จำเลยกระทำก็มิใช่ความผิดร้ายแรง เพราะผู้กล่าวหาที่ 2 สมัครใจยินยอมร่วมประเวณีกับจำเลยด้วย เมื่อผู้กล่าวหาทั้งสองต่างยืนยันว่าได้รับชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท จนผู้กล่าวหาทั้งสองไม่ติดใจเอาความกับจำเลยแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีดังที่ได้วินิจฉัยมาเมื่อพิจารณาประกอบเหตุส่วนตัวของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่แต่ละคนต่างก็มีเกียรติประวัติในด้านการทำคุณงามความดีและอุทิศตนกับเสียสละเพื่อประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมมาโดยตลอด อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาทุกคนดังกล่าวต่างมีบุคคลในครอบครัวที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูด้วย การจำคุกผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนไปเสียทีเดียวโดยเป็นโทษจำคุกระยะสั้นเพียง 3 เดือน และ 6 เดือน เช่นนี้ นอกจากจะไม่มีผลในการแก้ไขฟื้นฟูพฤติการณ์ของผู้ถูกล่าวหาตามหลักวิชาอาชญาวิทยาแล้ว ยังมีแต่จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนมีประวัติเสื่อมเสีย เมื่อพ้นโทษแล้วก็ยากที่จะกลับเนื้อกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไปได้ อีกทั้งจะพลอยทำให้คนในครอบครัวของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนต้องทุกข์ยากเดือดร้อนในเคราะห์กรรมของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนไปด้วย การรอการลงโทษและคุมความประพฤติผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวไว้น่าจะเป็นประโยชน์และเกิดผลดีแก่สังคมส่วนรวมมากกว่า แต่เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนหลาบจำไม่หวนกลับไปกระทำความผิดอีก จึงให้ลงโทษปรับผู้ถูกกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อีกสถานหนึ่ง และคุมความประพฤติผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไว้ด้วย ฎีกาในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อีกสถานหนึ่ง โดยปรับคนละ 500 บาท และไม่ลดโทษปรับให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ที่ให้การรับสารภาพต่อศาล กับให้รอการลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไว้คนละ 3 ปี และให้คุมความประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไว้คนละ 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนฟังโดยให้ผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนดังกล่าวไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 เดือน ต่อหนึ่งครั้ง ตลอดระยะเวลาที่คุมความประพฤติไว้นั้น ให้ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนดังกล่าวละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองนี้อีก และให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนเห็นสมควรเป็นเวลา 30 ชั่วโมง หากผู้ถูกกล่าวหาใดไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8