แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด (คำร้องขัดทรัพย์) ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ได้ออกหมายบังคับคดีคือ ศาลที่ได้พิจารณาและตัดสินคดีในชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 302 จะยื่นต่อศาลที่ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลที่ออกหมายบังคับคดีไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลที่ออกหมายบังคับคดีคือศาลแพ่งไม่ใช่ศาลจังหวัดพิษณุโลก การที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทต่อศาลจังหวัดพิษณุโลกจึงเป็นการเสนอคำร้องขอต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณา
พิพากษาคดี.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 924,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2542 จนกว่าชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 29,170 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ศาลแพ่งได้ออกหมายบังคับคดีลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 และได้ส่งหมายบังคับคดีให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีแทน ต่อมาศาลชั้นต้นได้ทำการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11199 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ ผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นว่าที่ดินตามโฉนดดังกล่าวข้างต้นเป็นของผู้ร้องทั้งสองขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษา ให้ยกคำร้องขอ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด ค่าคำร้องขอเป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2) บัญญัติว่า “คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีมาตรา 302” และมาตรา 302 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือหมายจับลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือมีอำนาจทำคำวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งได้เสนอต่อศาลตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ คือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น” ดังนั้น การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด (คำร้องขัดทรัพย์) ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นที่เป็นศาลที่ได้ออกหมายบังคับคดีคือศาลที่ได้พิจารณาและตัดสินคดีในชั้นต้นตามมาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 302 จะยื่นต่อศาลที่ดำเนินการบังคับคดีแทนศาลที่ออกหมายบังคับคดีไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลที่ออกหมายบังคับคดีคือศาลแพ่งไม่ใช่ศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้นจึงเป็นการเสนอคำร้องขอต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทไว้พิจารณาพิพากษาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ