แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นเมื่อสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมไปได้ 2 ปาก โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นว่าจำเลยกับพวกกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นส่วนสำคัญเพิ่มเติมว่าจำเลยกับพวกร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งมิได้ปรากฏในฟ้องเดิม หาได้เป็นการแก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิดที่ต้องแถลงหรือมิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 164 ไม่ เมื่อเป็นดังนี้ ข้อเท็จจริงตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจึงเพิ่งปรากฏในชั้นพิจารณาของศาล หาได้ปรากฏตั้งแต่ในชั้นสอบสวนไม่ ถือว่าพนักงานสอบสวนยังมิได้มีการสอบสวนในความฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โจทก์ฟ้องคดีในความผิดที่ยังไม่มีการสอบสวนไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในข้อนี้ไม่ได้
ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองฯ ตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาทจึงมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2543 เมื่อนับแต่วันที่ 17 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิดแล้วเป็นเวลาเกิน 1 ปี ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289 (4), 371, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง นับโทษจำเลยต่อจากจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3426/2537 และ 3467/2537 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นางเจริญภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายบัญญัติผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 371, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน และร่วมกันพาอาวุธปืน จำคุกกระทงละ 1 ปี แต่เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยแล้ว จึงไม่จำต้องลงโทษจำคุกในกระทงอื่นอีกต่อไป ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายบัญญัติผู้ตายถึงแก่ความตาย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยมีว่า จำเลยเป็นคนร้ายกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ใช่คนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงฆ่าผู้ตาย ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่นั้น เห็นว่า ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยเพียงว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเท่านั้น ครั้นในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อสืบประจักษ์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมไปได้ 2 ปาก ข้อเท็จจริงจึงมาปรากฏในชั้นพิจารณาว่าก่อนเกิดเหตุผู้ตายเคยมีเหตุทะเลาะเบาะแว้งกับบุคคลภายนอกโจทก์ร่วมสงสัยว่าจำเลยจะรับจ้างจากบุคคลภายนอกดังกล่าวมาฆ่าผู้ตาย โจทก์จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาเป็นว่าจำเลยกับพวกกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จึงเป็นการบรรยายข้อเท็จจริง อันเป็นส่วนสำคัญเพิ่มเติมว่าจำเลยกับพวกร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งมิได้ปรากฏในฟ้องเดิม หาได้เป็นการแก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิดที่ต้องแถลงหรือมิได้กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 164 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องที่เพิ่งปรากฏในชั้นพิจารณาของศาล หาได้ปรากฏตั้งแต่ในชั้นสอบสวนไม่ ถือว่าพนักงานสอบสวนยังมิได้มีการสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โจทก์ฟ้องคดีในความผิดที่ยังไม่มีการสอบสวนไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 โจทก์จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในข้อนี้ไม่ได้ แต่การที่จำเลยรับต่อพันตำรวจตรีประชาว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย เป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ลดโทษให้แก่จำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เห็นสมควรลดโทษให้จำเลย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาทจึงมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2543 เมื่อนับแต่วันที่ 17 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิดแล้วเป็นเวลาเกิน 1 ปี ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ด้วย จึงไม่ชอบ และคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง หาใช่มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาและยืนตามกันมาไม่ ปัญหาทั้งสองข้อเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนฯ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง และสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ให้ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7.