คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3552/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีเดิมโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนพินัยกรรม โดยอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอม แล้วโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยจะไม่นำพินัยกรรมไปขอรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลง และให้โจทก์ทั้งสองกับ พ. มีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายในฐานะทายาทบนที่ดินเหมือนเดิมทุกประการ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยยินยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองดูแลรักษาพร้อมทั้งเก็บดอกผลบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม และให้จำเลยใช้เงินดอกผลส่วนของโจทก์ทั้งสองกับให้แบ่งผลประโยชน์ที่เกิดบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนอันจะเป็นการฟ้องซ้ำและต้องห้ามตามป.วิ.พ. มาตรา 148 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสอง จำเลยและนางเพ็ญศรี เชิดชูวงศ์วัฒนาเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุวรรณ นางบุญช่วย ตรีเพ็ชร์ขณะที่นายสุวรรณกับนางบุญช่วยถึงแก่กรรม มีทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 5487 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)เลขที่ 126 ตั้งอยู่ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี บนที่ดินทั้งสองแปลง มีบุคคลอื่นเช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย โจทก์ทั้งสอง จำเลยและนางเพ็ญศรีต่างมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันและมีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากดอกผลที่เกิดขึ้นบนที่ดินทั้งสองแปลงตามส่วนแบ่งของแต่ละคนเท่า ๆ กัน เมื่อปี 2529 โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนพินัยกรรมปลอมของนางบุญช่วยที่ระบุว่านางบุญช่วยยกอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดรวมทั้งที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียวและจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยจะไม่นำพินัยกรรมไปขอรับโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้โจทก์ทั้งสองกับนางเพ็ญศรีมีสิทธิในที่ดินในฐานะทายาทเหมือนเดิมหลังจากตกลงกันแล้ว จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองทำประโยชน์และเก็บดอกผลบนที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยเข้ายึดครอบครองและเก็บค่าเช่าจากบุคคลอื่นไปเป็นเงิน 9,200 บาท เป็นประโยชน์จำเลยแต่เพียงผู้เดียว ขอให้บังคับจำเลยยินยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองดูแลรักษาเก็บดอกผลบนที่ดินโฉนดที่ 5487 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 126 ในฐานะเจ้าของรวม ให้จำเลยใช้เงินจำนวน4,600 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ให้แบ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นบนที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 5487 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 126 มีชื่อนายสุวรรณ ตรีเพ็ชร์บิดาโจทก์ จำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครอง เมื่อนายสุวรรณถึงแก่กรรม นางบุญช่วยมารดาโจทก์จำเลยได้ยื่นคำร้องขอรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5487 เป็นของนางบุญช่วยในฐานะผู้จัดการมรดก เมื่อปี 2524 นางบุญช่วยถึงแก่กรรม ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียว จำเลยได้ครอบครองและเก็บผลประโยชน์บนที่ดินทั้งสองแปลงตลอดมาในฐานะเจ้าของ จำเลยจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่126 เมื่อปี 2529 โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดฐานปลอมเอกสารและฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมเป็นคดีแพ่ง และโจทก์ทั้งสองกับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งความว่า จำเลยจะไม่นำพินัยกรรมไปรับโอนที่ดินทั้งสองแปลงและให้โจทก์ทั้งสองกับนางเพ็ญศรีมีสิทธิที่จะได้รับมรดกตามกฎหมายในฐานะทายาทเหมือนเดิมทุกประการ โจทก์ทั้งสองจึงได้ถอนฟ้องคดีอาญาจำเลย ตามข้อตกลงในคดีแพ่งดังกล่าว จำเลยยังไม่อาจที่จะปฏิบัติได้เพราะนายสุวรรณยังมีภรรยาชื่อนางพลอย ตรีเพ็ชร์มีบุตรด้วยกัน 9 คน และภรรยาชื่อนางบุญชู ตรีเพ็ชร์ มีบุตรด้วยกันอีก 3 คน บุคคลดังกล่าวมีสิทธิที่จะได้รับมรดกอยู่ด้วย การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จะต้องร้องขอต่อศาลในคดีเดิม มิใช่ที่จะมาฟ้องเป็นคดีใหม่ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยยินยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองดูแลรักษาพร้อมทั้งเก็บผลประโยชน์บนที่ดินโฉนดเลขที่ 5487 กับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 126 ตำบลอินทร์บุรีอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ในฐานะเจ้าของร่วม ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 4,600 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยแบ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นบนที่ดินทั้งสองแปลงนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะมีการแบ่งที่ดินทั้งสองแปลงกันให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยเสียภาษีเงินผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์พิพาทไว้โดยชอบแล้ว ก่อนที่จะจ่ายเงินให้แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระส่วนแบ่งผลประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสองตามส่วนเท่าที่เหลือจากหักค่าภาษีแล้วนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่จะวินิจฉัยข้อแรกตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 59/2529 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 59/2529 ของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยขอให้ศาลเพิกถอนพินัยกรรม ที่จำเลยอ้างว่ามารดาโจทก์ทั้งสองและจำเลยยกทรัพย์มรดกทั้งหมดรวมทั้งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยเพียงผู้เดียวโดยระบุว่าเป็นพินัยกรรมปลอมแล้ว โจทก์ทั้งสองกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ความว่า จำเลยจะไม่นำพินัยกรรมไปขอรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5487 และตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 126 และให้โจทก์ทั้งสองกับนางเพ็ญศรีมีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมายในฐานะทายาทบนที่ดินเหมือนเดิมทุกประการส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5067 ที่จำเลยรับโอนไปแล้วจะแบ่งเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน ให้โจทก์ทั้งสองและนางเพ็ญศรีมีกรรมสิทธิ์รวม ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอม แต่ในคดีนี้โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยยินยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองดูแลรักษา พร้อมทั้งเก็บดอกผลบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและให้จำเลยใช้เงินดอกผลส่วนของโจทก์ทั้งสองจำนวน 4,600 บาทกับให้แบ่งผลประโยชน์ที่เกิดบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลง นับแต่วันฟ้องจนกว่าคดีจะถึงที่สุดแก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้นประเด็นที่จะวินิจฉัยในคดีนี้จึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน อันจะเป็นการฟ้องซ้ำและต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องเป็นคดีต่างหากไม่จำต้องยื่นคำร้องขอเข้าไปในคดีเดิมเพื่อให้ศาลวินิจฉัยแต่อย่างใด
ปัญหาข้อที่สองที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเข้าครอบครองดูแลที่ดินพิพาททั้งสองแปลงหรือไม่จากพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยนำสืบมา แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำพินัยกรรมไปขอรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นชื่อจำเลย ทั้งจำเลยได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5067ตามข้อตกลงแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความให้โจทก์ทั้งสองแล้วแต่อย่างไรก็ตามตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจำเลยก็ได้ยอมให้โจทก์ทั้งสองกับนางเพ็ญศรีมีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในฐานะทายาทเหมือนเดิม กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ทั้งสองกับนางเพ็ญศรีเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสองแปลงร่วมกับจำเลย โดยจำเลยครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งแยกเอาไว้แทน ดังนั้นด้วยอำนาจแห่งการเป็นเจ้าของรวม โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเข้าไปครอบครองดูแล รักษาพร้อมทั้งจัดการทรัพย์สินและผลประโยชน์ต่าง ๆ บนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงร่วมกับจำเลยได้ ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแต่ผู้เดียวตลอดมา จำเลยจึงได้สิทธิครอบครอง และการที่จำเลยไม่สามารถแบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ได้เพราะมีทายาทอื่นที่จะต้องรับมรดกอยู่อีกนั้น ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวก็ขัดแย้งกัน ทั้งไม่ปรากฏว่ามีทายาทอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง พฤติกรรมของจำเลยส่อให้เห็นว่าพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย…”
พิพากษายืน.

Share