คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8778/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจซึ่งปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากรฯ แต่ไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ย่อมถือว่ายังไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ใน ป. รัษฎากรฯ มาตรา 118 จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังว่า ก. มอบอำนาจช่วงให้ ส. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การไว้จำเลยก็ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 64,647.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 48,411.33 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 51,074.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 48,411.33 บาท นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยนำเงินที่จำเลยชำระเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2541 จำนวน 1,100 บาท และเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 จำนวน 1,900 บาท มาหักชำระหนี้ ณ วันดังกล่าวด้วย โดยหักชำระดอกเบี้ยก่อนแล้วจึงหักชำระต้นเงิน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ปิดอากรแสตมป์แล้ว แต่ไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ถือว่าเอกสารดังกล่าวไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ โจทก์มอบอำนาจให้นายสมเกียรติ ดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มอบอำนาจช่วงได้ จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ โดยยินยอมผูกพันปฏิบัติตามเงื่อนไขผู้ถือบัตรของโจทก์ จำเลยได้นำบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ โจทก์ทดรองจ่ายเงินและส่งใบแจ้งยอดหนี้เรียกเก็บเงินจากจำเลย แต่จำเลยไม่ชำระ คิดถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้หลังจากที่ได้นำบัตรเครดิตไปใช้ครั้งสุดท้าย จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์รวมเป็นเงิน 51,074.89 บาท มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อกฎหมายประการแรกว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์อ้างว่านายสมเกียรติมอบอำนาจช่วงให้นายเสกสรรค์ ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ซึ่งปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนแต่ไม่มีการขีดฆ่า จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวซึ่งปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ย่อมถือว่ายังไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา 118 จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังว่านายสมเกียรติมอบอำนาจช่วงให้นายเสกสรรค์ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ให้การไว้ จำเลยก็ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาประการต่อไปขอให้ศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ขีดฆ่าอากรแสตมป์ที่ปิดไว้ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 นั้น เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีโดยปฏิเสธที่จะรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแล้ว กรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะดำเนินการดังกล่าว กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะอนุญาตตามคำขอของโจทก์ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share