คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8249/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหมดและลูกจ้างอื่นก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน เมื่อจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดในวันที่ 30 มิถุนายน 2541 โดยการปิดประกาศให้พนักงานทุกคนทราบที่โรงงานของจำเลย และให้โจทก์ทั้งหมดลงชื่อรับทราบการบอกเลิกจ้างโจทก์แต่ละคนระหว่างวันที่ 1 ถึง 9 กรกฎาคม 2541 เช่นนี้การเลิกจ้างย่อมมีผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 เมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างคราวถัดไป คือ วันที่ 30 สิงหาคม 2541 ก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นกำหนดจ่ายสินจ้างตามกฎหมาย ไม่อาจถือหรืออนุมานว่าวันครบกำหนดจ่ายเงินเดือนหรือกำหนดจ่ายสินจ้างเป็นวันสิ้นเดือนของทุกเดือน เมื่อปรากฏว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งหมดในเดือนกรกฎาคม 2541 แล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนสิงหาคม 2541 อีก 30 วัน คือตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 30 สิงหาคม 2541 ก่อนวันสิ้นเดือนสิงหาคม 2541 จำนวน 1 วัน แก่โจทก์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินของโจทก์แต่ละคนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ย่อยาว

คดีทั้งหนึ่งร้อยสิบเจ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึง โจทก์ที่ 117

โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยสิบเจ็ดสำนวนฟ้องและโจทก์ที่ 5 โจทก์ที่ 40 กับโจทก์ที่ 47 แก้ไขคำฟ้องมีใจความสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างจำเลย วันเข้าทำงานและค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้อง กำหนดจ่ายค่าจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2541 จำเลยได้มีหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมด เพื่อให้มีผลการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 โดยอ้างเหตุขายกิจการให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลชลบุรี จำกัด โจทก์แต่ละคนได้รับทราบการบอกเลิกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 1 ถึง 4 กรกฎาคม 2541 การบอกเลิกจ้างของจำเลยกระทำโดยมิชอบ เนื่องจากโจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างที่มิได้กำหนดเวลาการจ้างไว้แน่นอนโจทก์ทั้งหมดมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 1 เดือน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้องพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งหนึ่งร้อยสิบเจ็ดสำนวนให้การว่า จำเลยประกาศเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 สิงหาคม 2541 และจำเลยได้จ่ายค่าจ้างของเดือนกรกฎาคม 2541 ให้โจทก์ทั้งหมดครบถ้วนแล้ว จำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์ทั้งหมดไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ในระหว่างพิจารณา โจทก์และจำเลยทั้งหนึ่งร้อยสิบเจ็ดสำนวนแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 เวลา 15.57 นาฬิกา สำนักงานกลางโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ส่งโทรสารมาที่โรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี แจ้งให้ทางโรงงานบอกกล่าวเลิกจ้างพนักงาน พร้อมทั้งส่งตัวอย่างหนังสือบอกกล่าวเลิกจ้างให้พนักงานทุกคนเซ็นชื่อรับทราบเป็นรายบุคคล ตามเอกสารหมาย จ.ล.1 ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2541 นายสถิต สิตไทย ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลดังกล่าวได้สั่งการให้หัวหน้ากองและหัวหน้าแผนกทุกแผนกแจ้งให้พนักงานขณะนั้นจำนวน 223 คน ทราบหนังสือเลิกจ้างและลงลายมือชื่อรับทราบ โดยส่งให้พนักงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไป ตามตัวอย่างลายมือชื่อรับทราบเอกสารหมาย จ.ล.4 และในวันที่ 30 มิถุนายน 2541 สำนักงานกลางโรงงานน้ำตาลได้ส่งโทรสารอีกฉบับหนึ่งมาที่โรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี เรื่อง การเลิกจ้างพนักงานโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี โดยแนบประกาศของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง การเลิกจ้างพนักงาน มาด้วย ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรีมีคำสั่งให้หัวหน้ากองและหัวหน้าแผนกปิดประกาศให้พนักงานทุกคนทราบในวันที่ 30 มิถุนายน 2541 โดยปิดไว้ที่ที่ปิดประกาศของแต่ละแผนก และที่ปิดประกาศกลาง งานประชาสัมพันธ์ ตามเอกสารหมาย จ.ล.2 โรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี ได้ลงรับเอกสารหมาย จ.ล.2 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เวลา 9.55 นาฬิกา และ 9.35 นาฬิกา ตามลำดับ การจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานรวมทั้งโจทก์ทั้งหมดจำเลยจะจ่ายให้ก่อนข้าราชการรับเงินเดือน 1 วัน โดยจ่ายเป็นเงินสดและให้พนักงานลงลายมือชื่อรับเงิน จำเลยได้จ่ายค่าจ้างของเดือนกรกฎาคม 2541 ให้แก่พนักงานรวมทั้งโจทก์ทั้งหมดแล้ว คู่ความแถลงยอมรับกันถึงบัญชีสรุปรายชื่อโจทก์แต่ละคน ตำแหน่ง เงินเดือน วันบรรจุเข้าทำงานและวันที่พนักงานได้รับแจ้งการเลิกจ้างตามเอกสารหมาย จ.ล.5 คู่ความต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สำนักงานกลางโรงงานน้ำตาล กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ส่งโทรสารไปถึงโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรีรวม 2 ฉบับ ฉบับแรกเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2541 เวลา 15.57 นาฬิกา เรื่อง การบอกกล่าวเลิกจ้างพนักงานของโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี รวมทั้งโจทก์ทั้งหมดด้วย ตามหนังสือบอกเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.ล.1 และฉบับที่สองเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เวลา 9.55 นาฬิกาและ 9.35 นาฬิกา เรื่อง การเลิกจ้างพนักงานโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรี โดยแนบประกาศของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง การเลิกจ้างพนักงาน มาด้วย ตามเอกสารหมาย จ.ล.2 นายสถิตผู้จัดการโรงงานน้ำตาลสุพรรณบุรีได้สั่งการให้หัวหน้ากองและหัวหน้าแผนกทุกแผนกส่งหนังสือเลิกจ้างให้พนักงานของจำเลยทุกคนลงลายมือชื่อรับทราบ และให้นำประกาศเลิกจ้างไปปิดที่ที่ปิดประกาศของแต่ละแผนกและที่ปิดประกาศกลาง งานประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งหัวหน้ากองและหัวหน้าแผนกได้ปฏิบัติตาม การปิดประกาศเลิกจ้างให้พนักงานทราบดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเลิกจ้างพนักงานทุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งหมดด้วยวิธีปิดประกาศแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ส่วนการที่จำเลยจัดส่งหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.ล.1 ไปให้พนักงานรวมทั้งโจทก์ทุกคนลงลายมือชื่อเป็นขั้นตอนการปฏิบัติภายหลังจากการบอกเลิกสัญญามีผลบังคับแล้ว จำเลยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน จำเลยได้จ่ายเงินเดือนประจำเดือนกรกฎาคม 2541 ให้แก่พนักงานทุกคนแล้ว การจ่ายเงินเดือนให้พนักงานทุกคนก่อนวันสิ้นเดือน 1 วันนั้น เป็นเพียงวิธีปฏิบัติให้โจทก์ทั้งหมดได้รับเงินเดือนเร็วขึ้น มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง วันครบกำหนดจ่ายเงินเดือนยังคงเป็นวันสิ้นเดือนของทุกเดือน ถือได้ว่าจำเลยได้บอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 แล้ว โจทก์ทั้งหมดไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยสิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยสิบเจ็ดว่า จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน” คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความรับกันว่าจำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งหมดและลูกจ้างอื่นก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน เมื่อจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดในวันที่ 30 มิถุนายน 2541 โดยการปิดประกาศให้พนักงานทุกคนทราบที่โรงงานของจำเลย และให้โจทก์ทั้งหมดลงชื่อรับทราบการบอกเลิกจ้างโจทก์แต่ละคนระหว่างวันที่ 1 ถึง 9 กรกฎาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.ล.5 เช่นนี้ การเลิกจ้างย่อมมีผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 เมื่อกำหนดจ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างคราวถัดไป คือ วันที่ 30 สิงหาคม 2541 ก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน มิใช่วันที่ 30 กรกฎาคม 2541 เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้เป็นยุติตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า จำเลยกำหนดจ่ายสินจ้างก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นกำหนดจ่ายสินจ้างตามกฎหมาย ไม่อาจถือหรืออนุมานว่าวันครบกำหนดจ่ายเงินเดือนหรือกำหนดจ่ายสินจ้างเป็นวันสิ้นเดือนของทุกเดือนดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยสิบเจ็ดในเดือนกรกฎาคม 2541 แล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในเดือนสิงหาคม 2541 อีก 30 วัน คือตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 30 สิงหาคม 2541 ก่อนวันสิ้นเดือนสิงหาคม 2541 จำนวน 1 วัน แก่โจทก์ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 17 พฤศจิกายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 13,780.65 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 18,493.55 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน19,664.52 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 14,603.23 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 5,893.55 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 14,603.23 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 17,409.68 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 6,232.26 บาท โจทก์ที่ 12 จำนวน 8,303.23 บาท โจทก์ที่ 13 จำนวน 17,409.68 บาท โจทก์ที่ 14 จำนวน 5,893.55 บาท โจทก์ที่ 15จำนวน 8,303.23 บาท โจทก์ที่ 16 จำนวน 12,280.65 บาท โจทก์ที่ 17 จำนวน 13,006.45 บาท โจทก์ที่ 18 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 19 จำนวน 25,296.77บาท โจทก์ที่ 20 จำนวน 17,409.68 บาท โจทก์ที่ 21 จำนวน 26,980.65 บาทโจทก์ที่ 22 จำนวน 10,974.19 บาท โจทก์ที่ 23 จำนวน 17,409.68 บาท โจทก์ที่ 24จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 25 จำนวน 11,603.23 บาท โจทก์ที่ 26 จำนวน7,838.71 บาท โจทก์ที่ 27 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 28 จำนวน 16,403.23บาท โจทก์ที่ 29 จำนวน 15,435.48 บาท โจทก์ที่ 30 จำนวน 16,403.23 บาทโจทก์ที่ 31 จำนวน 14,603.23 บาท โจทก์ที่ 32 จำนวน 13,780.65 บาท โจทก์ที่ 33จำนวน 17,409.68 บาท โจทก์ที่ 34 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 35 จำนวน16,403.23 บาท โจทก์ที่ 36 จำนวน 11,603.23 บาท โจทก์ที่ 37 จำนวน 14,603.23บาท โจทก์ที่ 38 จำนวน 14,603.23 บาท โจทก์ที่ 39 จำนวน 14,603.23 บาทโจทก์ที่ 40 จำนวน 14,603.23 บาท โจทก์ที่ 41 จำนวน 18,493.55 บาท โจทก์ที่ 42จำนวน 15,474.19 บาท โจทก์ที่ 43 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 44 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 45 จำนวน 25,296.77 บาท โจทก์ที่ 46 จำนวน 9,822.58บาท โจทก์ที่ 47 จำนวน 14,603.23 บาท โจทก์ที่ 48 จำนวน 16,403.23 บาทโจทก์ที่ 49 จำนวน 17,409.68 บาท โจทก์ที่ 50 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 51จำนวน 17,409.68 บาท โจทก์ที่ 52 จำนวน 18,493.55 บาท โจทก์ที่ 53 จำนวน17,403.68 บาท โจทก์ที่ 54 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 55 จำนวน 16,403.23บาท โจทก์ที่ 56 จำนวน 12,280.65 บาท โจทก์ที่ 57 จำนวน 6,590.32 บาทโจทก์ที่ 58 จำนวน 25,296.77 บาท โจทก์ที่ 59 จำนวน 7,838.71 บาท โจทก์ที่ 60จำนวน 11,603.23 บาท โจทก์ที่ 61 จำนวน 26,980.65 บาท โจทก์ที่ 62 จำนวน16,403.23 บาท โจทก์ที่ 63 จำนวน 14,603.23 บาท โจทก์ที่ 64 จำนวน 16,403.23บาท โจทก์ที่ 65 จำนวน 14,603.23 บาท โจทก์ที่ 66 จำนวน 14,603.23 บาทโจทก์ที่ 67 จำนวน 17,409.68 บาท โจทก์ที่ 68 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 69จำนวน 14,603.23 บาท โจทก์ที่ 70 จำนวน 5,274.19 บาท โจทก์ที่ 71 จำนวน13,780.65 บาท โจทก์ที่ 72 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 73 จำนวน 16,403.23บาท โจทก์ที่ 74 จำนวน 18,493.55 บาท โจทก์ที่ 75 จำนวน 14,603.23 บาท โจทก์ที่ 76 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 77 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 78จำนวน 19,664.52 บาท โจทก์ที่ 79 จำนวน 20,922.58 บาท โจทก์ที่ 80 จำนวน23,729.03 บาท โจทก์ที่ 81 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 82 จำนวน 13,780.65บาท โจทก์ที่ 83 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 84 จำนวน 14,603.23 บาทโจทก์ที่ 85 จำนวน 22,277.42 บาท โจทก์ที่ 86 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 87จำนวน 13,006.45 บาท โจทก์ที่ 88 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 89 จำนวน16,403.23 บาท โจทก์ที่ 90 จำนวน 20,922.58 บาท โจทก์ที่ 91 จำนวน 18,493.55บาท โจทก์ที่ 92 จำนวน 18,493.55 บาท โจทก์ที่ 93 จำนวน 14,603.23 บาทโจทก์ที่ 94 จำนวน 20,922.58 บาท โจทก์ที่ 95 จำนวน 14,603.23 บาท โจทก์ที่ 96จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 97 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 98 จำนวน16,403.23 บาท โจทก์ที่ 99 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 100 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 101 จำนวน 26,980.65 บาท โจทก์ที่ 102 จำนวน 17,409.68 บาท โจทก์ที่ 103 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 104 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 105 จำนวน 19,664.52 บาท โจทก์ที่ 106 จำนวน 23,729.03 บาท โจทก์ที่ 107 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 108 จำนวน 17,409.68 บาท โจทก์ที่ 109 จำนวน 18,493.55 บาท โจทก์ที่ 110 จำนวน 14,603.23 บาท โจทก์ที่ 111 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 112 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 113 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 114 จำนวน 11,603.23 บาท โจทก์ที่ 115 จำนวน 16,403.23 บาท โจทก์ที่ 116 จำนวน 17,409.68 บาท และโจทก์ที่ 117 จำนวน 13,006.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 17 พฤศจิกายน 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยสิบเจ็ด คำขออื่นของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยสิบเจ็ดสำนวนให้ยก

Share