แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องขอส่งและปิดหมายเรียกและสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งให้ทนายโจทก์ ศาลจึงมีคำสั่งให้ส่งสำเนาและหมายเรียกโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง โดยส่งแก่ทนายโจทก์แทนตามที่ขอ ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่การส่งคำคู่ความตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ และมาตรา 83 ฉ แต่เป็นกรณีของการส่งคำคู่ความให้แก่ทนายความที่คู่ความแต่งตั้งให้ว่าคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 75 ซึ่งถือว่าเป็นการส่งโดยชอบด้วยกฎหมาย และการส่งสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งให้แก่ทนายโจทก์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ มีผลเสมือนว่าเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ เมื่อ พ. ซึ่งอายุเกิน 20 ปี และอยู่บ้านหรือสำนักงานเดียวกันกับทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวแทนทนายโจทก์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 ย่อมถือได้ว่ามีการส่งสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้วตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง และโจทก์อาจยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 178 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 30 กันยายน 2546 การที่โจทก์ยื่นคำให้การวันที่ 29 ตุลาคม 2546 จึงเกินกำหนด 15 วัน ตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า คำว่า “หย่าสือหลี” หรือ “เงี่ยสือหลี” หรือ “YASHILI” และรูปลวดลายประดิษฐ์ตามคำขอเลขที่ 496612 และ 496613 ดีกว่าจำเลย ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 486284 ทะเบียนเลขที่ ค.177134 และคำขอเลขที่ 486285 ขอให้ศาลพิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 486284 และคำขอเลขที่ 486285 ของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายตามคำขอเลขที่ 496612 และ 496613 ของโจทก์ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอเลขที่ 486284 ทะเบียนเลขที่ ค.177134 และให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ 486285 ออกจากทะเบียนเครื่องหมายการค้าของกรมทรัพย์สินทางปัญญา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวนเดือนละ 100,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะถอนคำขอจดทะเบียนเลขที่ 486284 ทะเบียนเลขที่ ค.177134 และคำขอเลขที่ 486285 และเลิกใช้เครื่องหมายการค้ารูปลวดลายประดิษฐ์ที่เหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้องโจทก์ และฟ้องแย้งให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยในอัตราเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะยุติหรือระงับหรือเลิกใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของจำเลย โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2546
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2546 ว่า โจทก์ยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว ดังนั้น จึงไม่รับคำให้การโจทก์แก้ฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งภายในกำหนดเวลาของกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้เสนอรายงานว่าหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแย้งได้จัดส่งให้ทนายโจทก์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับด่วนพิเศษ ผลการส่งหมาย คือ ส่งได้ โดยมีชื่อ พัชรินทร์ อายุ 25 ปี เกี่ยวพันกับผู้รับโดยอยู่บ้านหรือสำนักงานเดียวกัน รับแทนเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 ต่อมาโจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2546 เห็นว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2546 ขอส่งและปิดหมายเรียกและสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งให้ทนายโจทก์ ศาลจึงมีคำสั่งให้ส่งสำเนาและหมายเรียกโจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง โดยส่งแก่ทนายโจทก์แทนตามที่ขอ ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่การส่งคำคู่ความตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 83 ทวิ และมาตรา 83 ฉ ดังที่โจทก์อุทธรณ์ แต่เป็นกรณีของการส่งคำคู่ความให้แก่ทนายความที่คู่ความแต่งตั้งให้ว่าคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 75 ซึ่งถือว่าเป็นการส่งโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และการส่งสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งให้แก่ทนายโจทก์โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ มีผลเสมือนว่าเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บุคคลชื่อพัชรินทร์ซึ่งมีอายุเกิน 20 ปี และอยู่บ้านหรือสำนักงานเดียวกันกับทนายโจทก์ได้รับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวแทนทนายโจทก์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 ตามรายงานเจ้าหน้าที่และใบตอบรับในประเทศย่อมถือได้ว่ามีการส่งสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 76 วรรคหนึ่ง และโจทก์อาจยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 178 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 30 กันยายน 2546 การที่โจทก์ยื่นคำให้การวันที่ 29 ตุลาคม 2546 จึงเกินกำหนด 15 วัน ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน