คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8842/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ได้ เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 ทวิ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยเกี่ยวกับเหตุที่โจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาจนถึงวันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ได้ ก็เป็นเพียงเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อจะรับอุทธรณ์ของโจทก์เท่านั้น แต่ผลที่สุดศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177, 180, 264, 266, 268 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง
วันที่ 1 พฤษภาคม 2549 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน อ้างว่าทนายโจทก์เพิ่งได้รับการติดต่อจากโจทก์ ทำให้ทนายโจทก์ทำอุทธรณ์ไม่ทัน ประกอบกับคดีมีเอกสารและพยานบุคคลจำนวนมาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าศาลอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 30 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 เกินกำหนดเวลาดังกล่าวและไม่ได้แสดงเหตุสุดวิสัย ให้ยกคำร้อง
วันที่ 4 พฤษภาคม 2549 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 โจทก์ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด จึงไม่รับอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 30 เมษายน 2549 เป็นวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ โจทก์สามารถยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ได้ และวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เกินกำหนดและไม่แสดงเหตุสุดวิสัย ให้ยกคำร้อง เห็นว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์จึงไม่ต้องแสดงเหตุสุดวิสัย และตามคำร้องดังกล่าวอ้างว่าทนายโจทก์เพิ่งได้รับการติดต่อจากโจทก์ให้ทำอุทธรณ์ ทำให้ทนายโจทก์ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน ถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ จึงเห็นสมควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ถึงวันที่โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คือวันที่ 4 พฤษภาคม 2549 ให้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่รับอุทธรณ์ของโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องนั้น แล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 ทวิ คดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยเกี่ยวกับเหตุที่โจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์และอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาจนถึงวันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ได้ ก็เป็นเพียงเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อจะรับอุทธรณ์ของโจทก์เท่านั้น และผลที่สุดศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีสิทธิฎีกาได้อีก แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3

Share