คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10243/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) ระหว่างโจทก์กับ ฉ. ซึ่งถือว่าโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินพิพาทได้ตามมาตรา 1475 แต่ถึงแม้โจทก์จะมิได้ร้องขอดังกล่าว แต่การจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตามมาตรา 1476 (1) ถึง (8) ต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อ ฉ. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยโจทก์ให้ความยินยอม ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ให้ตามมาตรา 521 ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องถอนคืนการให้ได้
โจทก์และ ฉ. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หาเมื่อ พ.ศ.2528 ต่อมา พ.ศ.2536 ฉ. ถึงแก่ความตาย แต่เหตุแห่งการประพฤติเนรคุณเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2543 ภายหลังจากที่ ฉ. ถึงแก่ความตายแล้ว และจำเลยประพฤติเนรคุณเฉพาะต่อโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณได้เฉพาะในส่วนของตน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่าเมื่อปี 2528 โจทก์และนายเฉลิมสามี ได้ให้โดยเสน่หาที่ดินโฉนดเลขที่ 142909 เนื้อที่ 55 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 3797 ราคาไม่ต่ำกว่า 4,000,000 บาท แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตร ต่อมาเดือนสิงหาคม 2543 จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงว่า “อีแก่ มึงไม่ใช่แม่ของกู กูไม่นับถือมึง มึงจะไปอยู่ไปตายที่ไหนก็ไป ไปเสียให้พ้น บ้านนี้ไม่ใช่บ้านของมึง เป็นบ้านของพ่อและพ่อยกให้กูแล้ว ถ้ามึงอยากได้ก็ให้ไปฟ้องเอา มึงไม่มีทางชนะกูได้ ถ้ามึงยังขืนอยู่ที่นี่ กูจะจับมึงส่งบ้านพักคนแก่ที่บางแค ถ้ามึงไม่เชื่อกู กูจะไม่รับรองความปลอดภัยของมึง” โจทก์อายุ 74 ปี ไม่สามารถประกอบอาชีพการงานได้ ไม่มีทรัพย์สินที่พอจะเลี้ยงชีพได้ ตกอยู่ในสภาพยากไร้ เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2543 โจทก์ได้ร้องขอให้จำเลยช่วยออกค่ารักษาพยาบาลจำนวน 11,670 บาท แต่จำเลยบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของเลี้ยงชีวิตและจำเลยสามารถจะให้ได้ โจทก์จึงขอถอนคืนการให้ ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 142909 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,000,000 บาท ห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินดังกล่าวต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้พูดหมิ่นประมาทโจทก์ โจทก์ไม่เคยแจ้งเรื่องค่ารักษาพยาบาลจำนวน 11,670 บาท ให้จำเลยทราบ นายเฉลิมบิดายกที่ดินและบ้านให้จำเลยมิใช่เป็นการให้โดยเสน่หาแต่เป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพันเพราะบ้านเพิ่งสร้างไปเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ และที่ดินติดจำนอง นายเฉลิมไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนคืนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 142909 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 55 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยให้จำเลยไปจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,000,000 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า จำเลยเป็นบุตรของโจทก์กับนายเฉลิมซึ่งสมรสกันเมื่อ พ.ศ.2487 ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2521 นายเฉลิมได้ซื้อที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 25749 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาได้มีการแบ่งแยกเป็นโฉนดเลขที่ 142909 เมื่อ พ.ศ.2522 และเมื่อ พ.ศ.2528 นายเฉลิมได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยโจทก์เป็นผู้ให้ความยินยอมและนายเฉลิมได้ถึงแก่ความตายเมื่อ พ.ศ.2536
มีปัญหาที่น่าจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นภรรยาของนายเฉลิมมาตั้งแต่ พ.ศ.2487 นายเฉลิมได้ซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อ พ.ศ.2521 ที่ดินจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) ซึ่งถือว่าโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดินพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1475 แต่ถึงแม้โจทก์จะมิได้ร้องขอดังกล่าว โดยยังคงมีชื่อนายเฉลิมอยู่ในโฉนดที่ดินพิพาทเพียงคนเดียว แต่การจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 (1) ถึง (8) โจทก์และนายเฉลิมต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงปรากกฏว่านายเฉลิมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยโจทก์ก็ได้ให้ความยินยอม ตามเอกสารหมาย จ.2 ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องถอนคืนการให้ได้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์และนายเฉลิมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หาหรือไม่ และจำเลยได้ประพฤติเนรคุณหรือไม่ โจทก์อ้างตนเอง นายโชติรัตน์และนายเชื้อชายเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์และนายเฉลิมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องโอนที่ดินพิพาทคืนภายใน 1 ปี แต่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ยอมโอนคืนให้ โจทก์และนายเฉลิมได้ทวงถามหลายครั้ง แต่จำเลยก็เพิกเฉย ต่อมาเมื่อนายเฉลิมถึงแก่ความตาย โจทก์ได้ทวงถามที่ดินพิพาทคืนอีก แต่ถูกจำเลยด่าว่า อีแก่ มึงไม่ใช่แม่กู จะไปไหนก็ไป บ้านนี้เป็นบ้านของกู พ่อให้กูแล้ว มึงอยากได้ก็ให้ไปฟ้องเอา หากมึงฟ้องเอ็งก็ไม่ชนะ ถ้าเอ็งไม่ออกจากบ้าน กูจะส่งเอ็งไปบ้านบางแค กูไม่รับรองความปลอดภัย” โจทก์เคยขอเงินจากจำเลย ก็ถูกจำเลยตะโกนว่า “ไปๆ ไม่มีหรอก ไม่มีอะไรจะให้” เห็นว่า พยานเบิกความได้สอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญแห่งคดี ทุกคนต่างก็เป็นพี่น้องกับจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ซึ่งเป็นมารดาของจำเลย ย่อมมีความรักลูกเป็นชีวิตจิตใจแล้วโดยธรรมชาติ ย่อมไม่เบิกความบิดเบือนใส่ร้ายจำเลยให้ผิดไปจากความจริง การที่โจทก์ต้องออกจากบ้านไปอยู่กับบุตรคนอื่นย่อมแสดงว่าการกระทำของจำเลยต้องมีผลกระทบกระเทือนจิตใจโจทก์ซึ่งเป็นมารดาอย่างรุนแรง และหากโจทก์เกลียดจำเลยก็คงไม่ยอมเซ็นยินยอมให้นายเฉลิมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย จึงเชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความไปตามความเป็นจริง พยานจำเลยที่นำสืบเพียงแต่อ้างลอยๆ ว่าไม่ได้ด่าโจทก์และไม่เคยไล่โจทก์ออกจากบ้านมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานโจทก์ ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เมื่อได้พิเคราะห์ประกอบเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นหนังสือสัญญาให้ที่ดินเป็นการให้โดยเสน่หาแล้ว จึงเห็นว่าโจทก์และนายเฉลิมได้ยกที่ดินให้แก่จำเลยโดยเสน่หา มิใช่โดยมีค่าภาระติดพันดังที่จำเลยอ้าง การที่จำเลยได้ด่าว่าโจทก์อย่างรุนแรง และขับไล่ออกจากบ้าน ถือได้ว่าเป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์แล้ว โจทก์จึงย่อมมีสิทธิจะเพิกถอนคืนการให้ได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทได้ทั้งแปลงหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และนายเฉลิมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หาเมื่อ พ.ศ.2528 ต่อมา พ.ศ.2536 นายเฉลิมถึงแก่ความตายแต่เหตุแห่งการประพฤติเนรคุณเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2543 อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่นายเฉลิมถึงแก่ความตายแล้ว และจำเลยประพฤติเนรคุณเฉพาะต่อโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณได้เฉพาะในส่วนของตน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องของโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ถอนคืนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 142909 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เฉพาะส่วนของโจทก์ที่ยกให้จำเลย ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คืนให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้จำเลยชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวมสามศาล 40,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้นให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share