คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9044/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และบทนิยามตามมาตรา 4 ผู้ที่จะมีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหางาน แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานให้แก่ ส. ผู้เสียหายคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และมิได้เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหางานเพื่อส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถหางานให้ผู้เสียหายไปทำงานในต่างประเทศได้ จำเลยกับพวกจึงมิได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือประกอบธุรกิจจัดหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง การกระทำของจำเลยกับพวกจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง และมาตรา 82 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนกันยายน 2543 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยกับนายบุญเลิศหรือศราวุธซึ่งโจทก์ได้ยื่นฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 335/2545 ของศาลชั้นต้นร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยกับพวกดังกล่าวร่วมกันจัดหางานให้แก่นายสมานผู้เสียหายคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศที่ดินแดนไต้หวันในตำแหน่งเกี่ยวกับคนงาน โดยเรียกและรับค่าบริการเป็นค่าตอบแทนจากผู้เสียหายเป็นเงินจำนวน 195,000 บาท ทั้งนี้โดยจำเลยกับพวกมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และมิได้เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหางานเพื่อส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศในเขตจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอื่นในประเทศไทย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยกับพวกโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายอันเป็นเท็จปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยจำเลยกับพวกหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความว่า จำเลยกับพวกสามารถหางานให้ผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศที่ดินแดนไต้หวันในตำแหน่งคนงานโดยรับเงินดือนและค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวนมาก โดยผู้เสียหายจะต้องจ่ายค่านายหน้าและค่าหนังสือเดินทางให้แก่จำเลยกับพวกเป็นเงิน 90,000 บาท อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถหางานให้ผู้เสียหายในดินแดนไต้หวัน และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงมอบเงินจำนวน 90,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวกไปตามที่ถูกหลอกลวง ทำให้จำเลยกับพวกได้ไปซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายผู้ถูกหลอกลวง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 341 และให้ใช้เงินจำนวน 90,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82, 91 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานฉ้อโกงและหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานให้ได้เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี จัดหางานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 12 เดือน ให้ใช้เงินจำนวน 90,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถจัดหางานในต่างประเทศเป็นเหตุให้ได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลวงลวงตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี จำคุก 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และมาตรา 4 บัญญัติว่า จัดหางานหมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างโดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น ผู้ที่จะมีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหางาน แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานให้แก่นายสมานผู้เสียหายคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศที่ดินแดนไต้หวัน โดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง และมิได้เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหางานเพื่อส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถหางานให้ผู้เสียหายไปทำงานในดินแดนไต้หวันได้ ตามคำฟ้องดังกล่าวจำเลยกับพวกจึงมิได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือประกอบธุรกิจจัดหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง การกระทำของจำเลยกับพวกจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง และมาตรา 82 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 สามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ความผิดฐานนี้โดยให้เหตุผลมาโดยละเอียดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share