แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 123 ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลที่ดีที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยวิธีอื่นตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้สินเชื่อเงินกู้โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (หนี้รายการที่ 1) แก่โจทก์ จำนวน 5,555,976.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 5,500,000 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2539 เป็นเงิน 75,869.43 บาท วันที่ 25 มกราคม 2539 เป็นเงิน 20,802.63 บาท และวันที่ 16 เมษายน 2539 เป็นเงิน 60,687.28 บาท ให้คิดหักให้ในวันชำระหนี้ดังกล่าวด้วย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้กู้ยืมเงิน (หนี้รายการที่ 2) แก่โจทก์จำนวน 8,075,945.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 8,000,000 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2539 เป็นเงิน 106,081.57 บาท วันที่ 25 มกราคม 2539 เป็นเงิน 30,258.37 บาท และวันที่ 16 เมษายน 2539 เป็นเงิน 88,272.41 บาท ให้คิดหักให้ในวันชำระหนี้ดังกล่าวด้วย และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยที่โจทก์ออกทดรองไป (หนี้รายการที่ 3) แก่โจทก์จำนวน 17,423 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหนี้ทั้งสามรายการหรือชำระไม่ครบก็ให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนอง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 1049 และ 45393 ตำบลลาดพร้าว อำเภอลาดพร้าว, บางกะปิ จังหวัดกรุงเทพมหานคร, พระนคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยยึดนำออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอก็ให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่มาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจเงินทุน และได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมและทรัพย์สินของสถานบันการเงิน 56 แห่ง ที่ถูกปิดกิจการจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ให้ระงับการดำเนินกิจการของโจทก์ในคดีนี้และดำเนินการชำระบัญชีตามกฎหมาย ต่อมาผู้ชำระบัญชีของโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลาย และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เด็ดขาดแล้ว ในคดีหมายเลขแดงที่ 1162/2544 ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม 2546 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รวบรวมทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องอื่นๆ ของโจทก์นำออกประมูลขายอันเป็นการจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลผู้ล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 123 ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อสินทรัพย์และสิทธิเรียกร้องอื่นๆ ของโจทก์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสี่ตามคำพิพากษาในคดีนี้ จึงเป็นผู้รับโอนซึ่งสิทธิเรียกร้องและอุปกรณ์แห่งหนี้มาเป็นของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 305 ผู้ร้องมีส่วนได้เสียในการบังคับคดี และมีสิทธิดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ผู้ร้องบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้จำเลยทั้งสี่ทราบแล้ว ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) และมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) จึงให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ส่วนที่ 4 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลที่ดีที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยวิธีอื่นตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายเป็นการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินที่ได้มาจากการขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายจึงควรได้รับความรับรอง คุ้มครองและบังคับตาม ดังนั้น หากเป็นความจริงตามข้ออ้างของผู้ร้องว่าผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง และบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ได้ ที่ศาลชั้นต้นด่วนวินิจฉัยและมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่