คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6116-6117/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 734 วรรคสอง เป็นกรณีที่มีการจำนองทรัพย์หลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายหนึ่งรายเดียวโดยมิได้ระบุลำดับไว้ เมื่อผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกันจึงแบ่งกระจายภาระแห่งหนี้ไปตามจำนวนเงินจำนองที่ระบุไว้เฉพาะทรัพย์สินนั้นๆ แต่ผู้ร้องมิใช่ผู้รับจำนองที่ใช้สิทธิดังกล่าว เมื่อโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อชำระหนี้จำนองให้แก่ผู้ร้องแล้วยังคงมีเงินเหลือจากการขายทอดตลาดเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิยกเหตุตามมาตราดังกล่าวขึ้นอ้างได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 154,731.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงิน 67,549 บาท นับจากวันที่ 6 มีนาคม 2540 และของเงิน 55,598 บาท นับจากวันที่ 3 เมษายน 2540 และของเงิน 15,790 บาท นับจากวันที่ 16 กรกฎาคม 2540 และของเงิน 15,790 บาท นับจากวันที่ 7 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมแล้วต้องไม่เกิน 11,303.64 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 3550 ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องรวมสองฉบับว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองทรัพย์สินที่โจทก์นำยึด ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13/2544 และหมายเลขแดงที่ 14/2544 ให้จำเลยกับนางสุภีร์ ร่วมกันชำระเงินแก่ผู้ร้อง 6,252,855.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี จากต้นเงิน 4,699,426.53 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำชำระเสร็จ และ 6,919,588.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี จากต้นเงิน 6,642,514.03 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามลำดับ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดโดยปลอดจำนองและให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์และเจ้าหนี้รายอื่น
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยกับนางสุภีร์ไม่ได้จำนองทรัพย์สินที่ยึดเป็นประกันหนี้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13/2544 ผู้ร้องยื่นคำร้องหลังจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดหลายครั้งแล้ว จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ผู้ร้อง 20 แปลงเศษโดยมิได้ระบุลำดับไว้ ภาระแห่งหนี้จึงต้องกระจายไปตามส่วน ทรัพย์สินที่ยึดมีภาระแห่งหนี้เพียง 200,000 บาท ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียง 200,000 บาท ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 3550 ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยให้แบ่งภาระหนี้กระจายไปตามส่วนแห่งทรัพย์สินนั้นๆ หากมีเงินเหลือจากการชำระหนี้แก่ผู้ร้องให้โจทก์ได้รับแต่เงินที่เหลือ หากโจทก์สละสิทธิในการบังคับคดี หรือไม่ประสงค์ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองรายนี้ ให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิการขายทอดตลาดต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองฉบับไม่เกินวงเงินที่จำนองพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนองก่อนโจทก์และเจ้าหนี้รายอื่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดเพียงใด เห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองทรัพย์พิพาทย่อมมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์พิพาทเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย และการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์พิพาทได้ ดังนั้น เมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองทรัพย์พิพาทจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย โจทก์จะอ้างว่าจำเลยจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ผู้ร้องหลายแปลงโดยมิได้ระบุลำดับไว้ ภาระแห่งหนี้จึงต้องกระจายไปตามส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 734 วรรคสอง นั้นหาได้ไม่ เนื่องจากมาตราดังกล่าวเป็นการจำนองทรัพย์หลายสิ่งเพื่อประกันหนี้รายหนึ่งรายเดียวโดยมิได้ระบุลำดับไว้ เมื่อผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับแก่ทรัพย์สินทั้งหมดพร้อมกันจึงให้แบ่งกระจายภาระแห่งหนี้ไปตามจำนวนเงินจำนองที่ระบุไว้เฉพาะทรัพย์สิ่งนั้นๆ แต่คดีนี้ผู้ร้องมิใช่ผู้รับจำนองที่ใช้สิทธิดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อโจทก์เป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญซึ่งจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อชำระหนี้จำนองให้แก่ผู้รับจำนองแล้วยังคงมีเงินเหลือจากการขายทอดตลาดเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกเหตุตามมาตราดังกล่าวขึ้นอ้างได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share