คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6466/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การจะเป็นผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 30 วรรคหนึ่ง และมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ได้ต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหารงานก่อน จำเลยเป็นบุคคลธรรมดาไม่เคยได้รับอนุญาตให้จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศและไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานของบริษัทจัดหางานแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำของจำเลยนอกจากจะไม่ต้องด้วยคำจำกัดความของคำว่า “จัดหางาน” แล้ว ยังมิได้มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่คนหางานหรือจัดหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างอย่างจริงจัง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยอ้างเอาเรื่องการจัดหางานขึ้นมาเป็นเหตุหลอกลวงเอาเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวงอันอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 91 ตรี และความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 30 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82
ฟ้องข้อ 1 ข. กล่าวหาว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 1 ระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม 2542 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกันและฟ้องข้อ 1 ค. หาว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม 2542 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามโจทก์ฟ้อง การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องข้อ 1 ข. และข้อ 1 ค. จึงมีวันกระทำความผิดต่างกันอย่างน้อย 1 วัน และความผิดดังกล่าวนี้มีเจตนากระทำต่อผู้เสียหายต่างคนกันด้วย จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 18,000 บาท นับโทษของจำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 2145/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30 (ที่ถูก 30 วรรคหนึ่ง), 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง ฐานประกอบธุรกิจจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 ปี กระทงหนึ่ง ฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 18 เดือน ก้บให้จำเลยคืนเงินหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 18,000 บาท และให้นับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 2230/2544 คดีหมายเลขแดงที่ 2145/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีประเด็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลย ในปัญหาข้อกฎหมาย 3 ข้อ คือ ข้อที่ 1 จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยมิได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 30 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82 หรือไม่ ข้อที่ 2 การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องข้อ 1 ข. และ 1 ค. เป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมและข้อที่ 3 การนับโทษจำเลยต่อตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ชอบหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกขึ้นว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ปัญหาข้อที่ 1 โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม 2542 เวลากลางวันถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยได้บังอาจประกอบธุรกิจจัดหางานให้คนหางานทั่วไปรวมทั้งนายวันชนะและนางจิดาภาคนหางานที่ประสงค์จะทำงานกับนายจ้างในประเทศออสเตรเลีย โดยจำเลยเรียกและรับเงินค่าบริการจากคนหางานเป็นการตอบแทน ทั้งนี้โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจัดหางานจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30 และ 82 โดยมาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางและมาตรา 31 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ขออนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน จำกัด ประกอบกับมาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “จัดหางาน” หมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง โดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม และให้หมายรวมถึงการเรียกเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อจัดหางานให้คนหางาน ฉะนั้น การจะเป็นผู้กระทำความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหางานก่อน คดีนี้จำเลยเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งไม่เคยได้รับอนุญาตให้จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศและไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานของบริษัทจัดหางานแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำของจำเลยนอกจากจะไม่ต้องด้วยคำจำกัดความของคำว่า “จัดหางาน” แล้ว ยังมิได้มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่คนหางานหรือจัดหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างอย่างจริงจัง แต่เป็นเรื่องที่จำเลยอ้างเอาเรื่องการจัดหางานขึ้นมาเป็นเหตุหลอกลวงเอาเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี และความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 30 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 82 ตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาข้อที่ 2 การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ 1 ข. และ ข้อ 1 ค. เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรม เห็นว่า ในความผิดดังกล่าวนี้โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดของจำเลยต่างวันกัน กล่าวคือ ฟ้องข้อ 1 ข. กล่าวหาว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 1 ระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม 2542 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน และฟ้องข้อ 1 ค. หาว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม 2542 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้อง การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องข้อ 1 ข. และข้อ 1 ค. จึงมีวันกระทำความผิดต่างกันอย่างน้อย 1 วัน และความผิดดังกล่าวนี้มีเจตนากระทำต่อผู้เสียหายต่างคนกันด้วย จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนในปัญหาข้อที่ 3 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่าเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาไม่มาศาลในการพิจารณาคดีจนศาลต้องออกหมายจับและจำหน่ายคดีชั่วคราว ต่อมาเมื่อได้ตัวจำเลยมาพิจารณาคดีต่อ ความจึงปรากฏแก่โจทก์ว่า ระหว่างนั้นจำเลยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลอาญาตามคดีหมายเลขแดงที่ 2145/2544 โจทก์จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ โดยขอให้นับโทษในคดีนี้ต่อจากคดีดังกล่าวด้วย ซึ่งจำเลยได้แถลงรับไว้ในรายการกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจริง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีนี้ ให้ลงโทษจำคุกจำเลย การมีคำสั่งนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีที่โจทก์ขอดังกล่าวจึงชอบแล้ว หาต้องคำนึงถึงวันกระทำผิดและวันพิพาษาว่าเกิดก่อนหลังดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 30 วรรคหนึ่ง, ประกอบมาตรา 82 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share