แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นแจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่ได้คัดค้าน ศาลล่างทั้งสองมีอำนาจที่จะหยิบยกเอารายงานการสืบเสาะและพินิจดังกล่าวมาประกอบการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญาฯ มาตรา 13
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 55, 72, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบอาวุธปืนและลูกระเบิดของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 55, 72 วรรคหนึ่ง, 78 วรรคหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยอายุ 19 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานมีวัตถุระเบิด จำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 เดือน ริบอาวุธปืนและลูกระเบิดของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานทำวัตถุระเบิดกับมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 78 วรรคหนึ่ง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ซึ่งแต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่อาจทราบได้ว่าการสืบเสาะและพินิจบุคคลที่พนักงานคุมประพฤติได้ไปสืบเสาะมานั้น บุคคลดังกล่าวให้การอย่างไรเป็นปรปักษ์แก่จำเลยหรือไม่ จำเลยไม่มีโอกาสทราบจึงมิได้โต้แย้ง ประกอบกับรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติเป็นพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่นอกสำนวน การที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกรายงานการสืบเสาะและพินิจดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยเพื่อกำหนดโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น จำเลยไม่เห็นพ้องด้วย เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 บัญญัติว่า “ศาลมีอำนาจที่จะรับฟังรายงานและความเห็นของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบ แต่ถ้าศาลจะใช้รายงานและความเห็นเช่นว่านั้นเป็นผลร้ายแก่จำเลย ให้ศาลแจ้งข้อความที่เป็นผลร้ายนั้นให้จำเลยทราบ เมื่อจำเลยคัดค้านพนักงานคุมประพฤติมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบประกอบรายงานและความเห็นก่อนและจำเลยมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างได้” คดีนี้ศาลชั้นต้นแจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยมิได้คัดค้านปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 2 มิถุนายน 2546 ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจที่จะหยิบยกเอารายงานการสืบเสาะและพินิจดังกล่าวมาประกอบการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ รายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติหาได้เป็นพยานหลักฐานที่ปรากฏอยู่นอกสำนวนดังที่จำเลยเข้าใจและกล่าวอ้างมาในฎีกาแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและทำกับมีวัตถุระเบิดของกลางซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง นับว่าเป็นการกระทำความผิดที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายของบ้านเมืองและอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนทั่วไปที่อยู่ในละแวกนั้น พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ที่ศาลอุทธณรณ์ภาค 3 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกและไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน